ม.เกษตร ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีวเคมี แด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 7 /2564 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีวเคมี แด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระกรณียกิจที่กอปรด้วยพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระราชทานแก่วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยและของโลกในด้านชีวเคมี รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัยทางด้านชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งวิทยาและพิษวิทยา

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้อง นางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2563 แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 21 – 25 มีนาคม 2565 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในการนี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีวเคมี แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563 วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2565 อีกทั้งได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้จัดพิมพ์หนังสือสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี  กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เรื่อง “เจ้าฟ้านักปราชญ์ชีวเคมี”

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน ดังพระดำรัสว่า “สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง ๔ คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว จึงได้ตัดสินใจมาเรียนด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบด้านศิลปะก็ตาม” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ทรงตั้งพระทัยอุทิศพระองค์เพื่อจุดมุ่งหมายที่สูงส่งยิ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรทั่วสารทิศ

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงตระหนักดีว่า การส่งเสริมการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เคมี การแพทย์ การสาธารณสุข และการพยาบาลอย่างจริงจังนั้น สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่ที่มีอยู่รอบด้านของพสกนิกรได้ ทรงมีพระปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ องค์การยูเนสโกได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญทองคำอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แด่พระองค์ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานดีเด่น ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงนำเอาผลงานทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสภาพการดำเนินชีวิตของอาณาประชาราษฎร์ ทรงตระหนักในปัญหาที่สร้างความทุกข์ให้แก่ทวยราษฎร์ กอปรกับทรงส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่องจึงทรงได้รับการยกย่องสูงสุด ทั้งยังทรงได้รับการยกย่องเป็น“เจ้าฟ้านักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เนื่องด้วยทรงสำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดทางวิทยาศาสตร์ ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และทรงมีผลงานการศึกษาวิจัยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อให้ราษฎรโดยเฉพาะบุคคลผู้ยากไร้ให้มีสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิตที่ดี และมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยดำเนินการตามแผนงาน พัฒนาสภาพแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และจัดทำโครงการหลัก ๒ โครงการ คือ โครงการจุฬาภรณ์พัฒนา และโครงการทับทิมสยาม โดยโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา มีทั้งสิ้นรวม ๑๒ โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช และยังมีโครงการในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดน ไทย – มาเลเซีย คือ ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี ความรักชาติ และความมั่นคง ในพื้นที่ ตลอดจนการกินดีอยู่ดีของราษฎร ส่วนโครงการทับทิมสยาม มีทั้งสิ้นรวม ๘ โครงการ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และตราด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ และศรีสะเกษ เป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และพัฒนา คุณภาพชีวิตของราษฎรตามแนวชายแดนไทย–กัมพูชา นอกจากนี้ยังมีโครงการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ สนับสนุนให้ราษฎรเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ และ ไม้ดอกไม้ประดับที่ตลาดต้องการ ประเภทกล้วยไม้ฟาแลนนอปซีสปริ้นเซสจุฬาภรณ์ กล้วยไม้ตระกูลหวาย ดอกหน้าวัว และต้นสับปะรดสี ฯลฯ และโครงการอนุรักษ์และสนับสนุนราษฎรให้ปลูกพืชสมุนไพรไทยที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เช่น ชาปัญจขันธ์ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร และไพล เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิจุฬาภรณ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เทคนิคการแพทย์ การพยาบาล และชีวเคมี โดยมูลนิธิจุฬาภรณ์มุ่งดำเนินงานสืบสานพระปณิธานในการร่วมแก้ไขปัญหาของแผ่นดินด้วยการช่วยเหลือดูแลประชาชนไทยที่ด้อยโอกาสในด้านที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต อาทิ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ และผู้ป่วยที่เป็นโรครักษายากต่าง ๆ ทั่วประเทศ สนับสนุนงานหน่วยแพทย์พระราชทานโดยดูแลผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์ จัดหาเวชภัณฑ์สำหรับหน่วยแพทย์พระราชทาน ตลอดจนมอบอุปกรณ์การแพทย์พระราชทานที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพของการให้บริการที่ดีของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย ทั้งยังทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ

“วัตถุประสงค์หลักของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด” พระดำรัสในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เนื่องในวันสถาปนาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อส่งเสริมการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเป็นศูนย์กลางการระดมสติปัญญาของนักวิชาการระดับสูง การระดมทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานของสถาบัน ฯ และทรงกำหนดกิจกรรมของสถาบัน ฯ ไว้หลายด้าน อาทิ ด้านงานวิจัย ทรงดำเนินการวิจัยทางเคมีและชีวการแพทย์ ทรงจัดหน่วยวิจัยเคมีอันประกอบด้วยห้องปฏิบัติการผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ชีวเคมี เคมีเภสัช อินทรีย์เคมีสังเคราะห์ การเกิดมะเร็งจากสารเคมี พิษวิทยาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ ภูมิคุ้มกันวิทยา พยาธิชีววิทยา และเภสัชวิทยา นอกจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว ยังทรงตระหนักในความสำคัญของการประชุมนานาชาติ ทรงเป็นองค์ประธานจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงก่อตั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งกำกับดูแลการผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตและบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี การแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผลิตผลงานวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ที่นำมาปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และให้บริการทางการแพทย์ที่เป็นเลิศด้วยมาตรฐานสากล บนหลักความเสมอภาคให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกันเพื่อสนองพระปณิธานอันมุ่งมั่นของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการสืบสานพระปณิธานตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระประสงค์ให้ชาวไทยทุกคนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ด้วยพระวิสัยทัศน์และสายพระเนตรที่ยาวไกลว่าควรมีการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และมีจำนวนพอเพียง ฉะนั้น การทรงงานพัฒนาเพื่อก้าวไปข้างหน้าอีกประการหนึ่ง คือ การจัดตั้งวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ รับหน้าที่จัดการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ โดยวิทยาลัยการแพทย์และสาธารณสุขแห่งนี้ มุ่งผลิตแพทย์ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความหมายว่า นอกจาก มีความรู้ในการรักษาผู้ป่วยแล้ว จะมีความสามารถด้านการวิจัยด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำผลวิจัยไปใช้ได้จริงกับผู้ป่วยในสังคมไทยทั้งในเมืองและชนบท สามารถแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ความสำเร็จของงานวิจัยซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกทางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนที่ทันสมัย ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และให้การศึกษาและฝึกอบรมอย่างครบวงจร ประกอบกับแนวพระดำริของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน
วรขัตติยราชนารี ที่ให้ขยายภารกิจด้านการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสาขาที่มีความต้องการสูงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น จึงได้มีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรระดับสูงทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนทางไกลด้านการประเมินความเสี่ยงร่วมกับศูนย์ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกของประเทศแคนาดาและประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นนักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์ในประเทศกำลังพัฒนา

ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ องค์ประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นายกสภาสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็ง และจากการที่ทรงรับเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติ การเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และห้องปฏิบัติการสารเคมีก่อมะเร็งด้วยพระองค์เอง กอปรกับทรงพบว่าประชาชนชาวไทยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มในอัตราที่สูงมากขึ้น จึงทรงก่อตั้งศูนย์วิจัยศึกษาและบำบัดโรคมะเร็งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม และให้เป็นศูนย์วิจัยด้านโรคมะเร็งที่มีความเป็นเลิศทางการวิจัย วิชาการ และการบำบัดรักษา พร้อมทั้งพัฒนาเป็นศูนย์ชำนาญการวินิจฉัยมะเร็งที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดในภูมิภาค โดยมีงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลรองรับ

พระองค์ทรงได้รับการยกย่องจากทั่วโลกจากการวิจัยโรคมะเร็งและการบำบัดรักษาโดยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งการใช้สมุนไพรไทยเพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษา โดยพระองค์ทรงร่วมมืออย่างเป็นทางการกับหลายหน่วยงานในต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคมะเร็ง และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของสถาบันมะเร็งหลายแห่ง อาทิ สาธารณรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐโรมาเนีย ฮังการี สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อทรงสานต่อพระปณิธานในการก่อตั้งศูนย์วิจัยและบำบัดโรคมะเร็งแบบครบวงจร ทรงพระราชทานเงินขวัญถุงจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑ ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน จนพัฒนามาสู่การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งทรงมุ่งหวังให้สถาบันนี้มีความเป็นเอกด้านวิชาการ การวิจัยศึกษาโรคมะเร็ง และการบำบัดรักษาด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมเป็นที่พึ่งพิงดูแลเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยทุกคน นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ (Cyclotron and PET Scan) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการในการตรวจโดยสารเภสัชรังสี เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถติดตาม ตรวจวัด ประเมิน และวิเคราะห์ การทำหน้าที่ของอวัยวะนั้น ๆ ในระดับเซลล์เมตาบอลิสม์ ที่สามารถให้รายละเอียดการวินิจฉัยโรคและระยะของโรคได้ดีกว่าการตรวจอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โรคทางสมอง และหัวใจ

จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่สร้างผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชนในทุกหมู่เหล่า ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงห่วงใยพสกนิกรและพระราชทานแนวนโยบายให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ติดต่อจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือราษฎรผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19  อีกทั้งยังทรงห่วงใยต่อสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในชุมชนและแรงงานที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยารักษาโรคโควิด 19 อาจมีจำนวนไม่เพียงพอ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงทรงมีพระวินิจฉัยให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เม็ด เพื่อพระราชทานแก่กรุงเทพมหานคร ในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ทรงมีพระดำรัสพระราชทานกำลังใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานช่วงวิกฤตโควิด 19 ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นกำลังหลักทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างเต็มกำลังความสามารถ อีกทั้งต้องรับภาระและความเสี่ยงสูงในการเป็นแนวหน้าต่อสู้กับสถานการณ์ดังกล่าว และพระราชทานกำลังใจแก่ประชาชนและผู้ป่วยให้หายดี กลับมาใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัวอันเป็นที่รักได้โดยเร็ว รวมถึงโปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยฉีดวัคซีนโควิด 19 ภาคสนาม ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ในน้ำพระทัยและความห่วงใยที่มีต่อปวงชนชาวไทยท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด 19

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงรับการถวายรางวัล“ IUTOX 2013 Merit Award” จากสหภาพพิษวิทยานานาชาติ ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการด้านพิษวิทยานานาชาติ ครั้งที่ ๑๓ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จากผลงานที่ทรงอุทิศพระองค์ในการจัดทำโครงการฝึกอบรมด้านพิษวิทยา และการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการได้รับสารเคมีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะเอเชียอาคเนย์ ที่ได้ทรงดำเนินการมานับตั้งแต่ทรงสถาปนาสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่งผลให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme/UNEP) แต่งตั้งให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พระองค์ทรงเป็นเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้มีผลงานดีเด่นของโลกในสาขาสารเคมีก่อมะเร็ง และพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ทรงเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทรงพระอุตสาหะพระราชทานการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้าน ทรงเป็น “ทูลกระหม่อมอาจารย์” ทางปรีคลินิก ที่ทรงพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์เชิงประยุกต์ ทรงใส่พระทัยในการเรียนการสอน จึงเป็นที่เคารพรักของนักศึกษาแพทย์ในทุกยุคทุกสมัย โดยทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนุชีววิทยาของโรคมะเร็ง และพิษวิทยา ทรงสอนนักศึกษาแพทย์ในรายวิชาต่าง ๆ ทรงสอนวิชาชีวเคมีและพิษวิทยาแก่นักศึกษาใน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายเรือ ทั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหพันธรัฐเยอรมนี เป็นต้น

ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระกรณียกิจที่กอปรด้วยพระกรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระราชทานแก่วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และของโลกในด้านชีวเคมีดังกล่าว รวมทั้งการสนับสนุนการวิจัยทางด้านชีวเคมีที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งวิทยาและพิษวิทยา ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอมติจากสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาชีวเคมี แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณให้แผ่ไพศาลและเพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สืบไป

(ข่าวโดย..ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ /หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 19 มีนาคม 2565)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated