งาน “Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลหมอนทองภาคตะวันออก ดีเลิศที่คุณภาพ ดีเยี่ยมเพื่อส่งออก” เป็นกิจกรรมที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันทุเรียนอ่อนและมาตรการ Zero Covid ของทั้งเกษตรกรเจ้าของสวน และผู้ประกอบการส่งออกในภาคตะวันออกทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ณ สวนทุเรียนน้ำกร่อย ของ นางสาวบุษบา นาคพิพัฒน์ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ม.14 ต.นายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และมีนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ ท่ามกลาง คณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกร ที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ด้วยสวนทุเรียนน้ำกร่อย ของประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ม.14 ต.นายายอาม คืออีกหนึ่งความสำเร็จของการดำเนินงานโดยกรมส่งเสริมการเกษตร จนสามารถเป็นต้นแบบในการเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก ภายใต้มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปี 2565 ที่เน้นให้การส่งออกผลไม้ต้อง Zero Covid และต้องไม่มีปัญหาทุเรียนอ่อน
ทุเรียนน้ำกร่อย คือ… ?
“สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน ม.14 ต.นายายอาม อ.นายายอาม เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรสมาชิก 47 ราย ยกระดับสู่ Smart Farmer เน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพตรงกับที่ตลาดต้องการ พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณตามวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 2,945,690 บาท เพื่อจัดหาเครื่องจักรกลที่ทันสมัย และนวัตกรรมใหม่ที่เหมาะสม เช่น รถฟาร์มแทรกเตอร์ รถขุดตีนตะขาบ เครื่องตัดหญ้าแบบนั่งขับ เป็นต้น มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และแก้ปัญหาด้านแรงงานอย่างเห็นผล” นายเข้มแข็ง กล่าว
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดแล้ว กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียน ม.14 ต.นายายอาม ยังมีความโดดเด่นในการเป็นแหล่งผลิต ทุเรียนน้ำกร่อย ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ผลไม้ไทยของจังหวัดจันทบุรี ด้วยการใช้เทคนิคการจัดการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทุเรียนที่ปลูก ประกอบด้วย พันธุ์เช่น หมอนทอง พวงมณี นกกระจิบ ก้านยาว ชะนี นวลทองจันท์ เป็นต้น สามารถเจริญเติบโตได้ดี และให้รสชาติแตกต่าง โดยเนื้อทุเรียนมีสีเหลืองอมส้ม เนื้อเนียนหวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เปลือกเขียวเข้ม หนามแหลมคม
ปลูกอย่างไร ทุเรียนน้ำกร่อย
ด้าน นางสาวบุษบา นาคพิพัฒน์ ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน ม.14 ต.นายายอาม กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำให้เกิดการพัฒนา ทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมทั้งการลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้กลุ่มมีการประกอบการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในการผลิตทุเรียนน้ำกร่อยคุณภาพออกสู่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญหลัก โดยเน้นตัดเฉพาะทุเรียนแก่ที่มีอายุประมาณ 120-135 วันเท่านั้น ซึ่งจากการที่ใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปถึงความพิถีพิถันในการเก็บเกี่ยว จนเป็นที่มาของคำว่า ทุเรียนน้ำกร่อย อร่อยสุดๆ และช่วงนี้ได้เริ่มตัดทุเรียนส่งจำหน่ายให้กับลูกค้าประจำที่มากกว่า 10 จังหวัดรวมถึงลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 06-2439-1687
โดยพื้นที่สวนทุเรียนแห่งนี้เป็นที่มรดกตกทอดตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ของสามี โดยประธานแปลงใหญ่ และสามีเข้ามาเริ่มทำสวนอย่างเต็มตัว เมื่อปี 2540 เริ่มต้นจากความยากลำบาก เนื่องจากน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่ตรงนี้เป็นน้ำกร่อย ไม่เหมาะสมในการปลูกทุเรียน ประกอบกับการตลาดที่ยังไม่กว้างขวาง เรียกว่า ลำบากมากในช่วงเวลานั้น ใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานอยู่ประมาณ 10 ปี
พี่บุษบาเล่าว่า ได้ทำแปลงปลูกทุเรียนน้ำกร่อย บนพื้นที่ 12 ไร่ ปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์ด้วยกัน เช่น หมอนทอง พวงมณี นกกระจิบ ก้านยาว ชะนี นวลทองจันท์ ปลูกแบบระยะชิด 1 ต้น ไว้ลูกได้ไม่เกิน 70-150 ลูก ต่างจากสวนทั่วไป ที่จะปลูกความห่างที่ 8×8 หรือ 9×9 เมตร ในตอนแรกที่ปลูกไม่ได้คิดว่ามันจะเจริญเติบโตได้ดี แต่ด้วยความที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่อยากปลูกทุเรียนให้ได้เยอะๆ จึงเป็นที่มาของการปลูกทุเรียนระยะชิด
ซึ่งการปลูกทุเรียนระยะชิดข้อดี คือ จำนวนต้นเพิ่มขึ้น ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น ปลูกถี่แต่ไม่เป็นโรครากเน่าโคนเน่า ด้วยที่ปลูกถี่และต้นสูงชะลูดเพื่อหาแสง ทำให้ต้นทุเรียนทิ้งกิ่งล่าง ทำให้แสงเข้าได้ทั่วทั้งทรงต้นและมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่อับชื้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นผลดีกับทุเรียนอยู่แล้ว เพราะทุเรียนไม่ชอบที่อับแสงและอากาศทึบ แต่มีข้อเสียคือ ต้นสูงชะลูด ส่งผลให้ยากในการจัดการ การปีนขึ้นลงต้นทุเรียนแต่ละต้นต้องใช้กำลังมาก จึงแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ลำไม้ไผ่มาพาดยึดกลางต้นทุเรียนเพื่อทำเป็นสะพานเดิน เชื่อมไปยังทุเรียนต้นข้างๆ เพื่อการเก็บเกี่ยวผลทุเรียนได้ง่ายขึ้น
ส่วนวิธีการจัดการแก้ไขน้ำกร่อย จะเริ่มจาก การตรวจวัดน้ำเค็ม เพราะการปลูกทุเรียนน้ำกร่อยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่เกษตรกรต้องมีความใส่ใจหมั่นศึกษาวัดระดับเป็นประจำ เรื่องน้ำคือต้องรู้จังหวะน้ำด้วยว่า น้ำจะเค็มเมื่อไร การวัดระดับความเค็มจะต้องวัดทุกเดือน โดยเฉพาะในช่วงเดือน 4 เดือน 5 น้ำเค็มจากทะเลจะหนุนเข้ามาในสวน ช่วงนี้จึงต้องเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการปลูกทุเรียนในพื้นที่น้ำกร่อยคือ ความเค็มของน้ำจะไปขัดขวางการทำงานของธาตุอาหารบางตัว ทำให้พืชไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารได้เต็มที่ และด้วยความเค็มของน้ำ จะมีคลอไรด์ และไนโตรเจนอยู่แล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปอีกพืชจึงไม่สามารถกินอาหารเพิ่มได้อีกแล้ว ในช่วงแรกที่ยังไม่รู้เราก็ใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปอย่างเดียว แต่พืชมันกินไม่ได้เท่าที่ควรแล้วก็ไม่ได้งามอย่างคนอื่นเขา เพราะว่าพืชเขาถูกบล็อกด้วยความเค็มของน้ำ แล้วพอการบล็อกด้วยน้ำเค็ม ธาตุอาหารต่างๆ ที่เราใส่ไปเขาไม่กินแล้ว เขาจะกินเฉพาะเท่าที่กินได้ ก็เลยทำให้เราเริ่มคิดว่า เอ๊ะ! นี่มันน้ำเค็ม น้ำกร่อย อย่างที่พ่อว่าจริงเหรอ เราก็ไปตรวจวัดค่าน้ำ ช่วงหน้าฝนน้ำไม่มีปัญหา แต่พอเข้าหน้าแล้งค่าความเค็มขึ้นอยู่ที่ 1 ppt ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว น้ำจืดจะมีค่าไม่เกิน 0.5 ppt” นางสาวบุษบา กล่าว และว่า
“ทีนี้เราก็ต้องหาวิธีแล้วว่า ทำยังไงที่จะลดความเค็มตรงนี้ไม่ให้ต้นทุเรียนตาย”ซึ่งหลังจากที่ทราบถึงปัญหา ก็ทำการศึกษาค่าความเค็มต่อ ว่าต้องอยู่ในระดับไหน ทุเรียนถึงจะอยู่ได้ พื้นที่สวนตรงนี้อยู่ห่างจากน้ำทะเลประมาณ 3 กิโลเมตร ด้วยภูมิศาสตร์ตรงนี้จะเป็นรอยต่อร่องน้ำเค็มพาดผ่าน วัดค่าความเค็มได้ในระดับ 0.12-1 ppt ถือว่าอยู่ในค่าที่ยังสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่ค่าความเค็มขึ้นสูงถึง 3 ppt ต้นทุเรียนจะไม่สามารถเจริญเติบโตอยู่ได้อีกต่อไป หรือถ้าอยู่ได้ก็ต้องมีน้ำธรรมชาติมารด แต่ต้องใช้เวลาฟื้นต้นนานเกือบ 2 ปี ซึ่งจากการที่ได้ศึกษาทดลอง พบว่าระดับน้ำที่ต่ำสุดในสระเป็นน้ำเค็ม ชั้นกลางเป็นน้ำกร่อย ส่วนชั้นบนจะมีสภาพจืดพอใช้ จึงนำมารดต้นทุเรียน แต่สิ่งสำคัญต้องรดน้ำเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ต้นทุเรียนที่มีระบบรากตื้นและไวต่อสารต่างๆ เกิดปัญหาใบไหม้จากการได้รับเกลือมากไป ซึ่งวิธีคิดนี้เกิดจากการสังเกตจากประสบการณ์ที่เคยทำมา”
เทคนิคต่อมาคือ การใช้ธรรมชาติรักษาธรรมชาติ โดยจะเก็บเศษวัสดุเศษกิ่งไม้ใบไม้ เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า เปลี่ยนมาตัดหญ้าแทน นำทุกอย่างที่เก็บไว้เป็นอินทรียวัตถุมาสะสมอยู่ในสวนทั้งหมด เศษใบไม้ใบหญ้าจะเป็นตัวช่วยดูดซับความเค็มได้ส่วนหนึ่ง และสิ่งที่ช่วยดูดซับความเค็มได้ดีที่สุดคือ ต้นกล้วย
“เมื่อก่อนที่สวนจะปลูกกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า เต็มสวนไปหมด และพอตอนหลังก็เริ่มที่จะเอามังคุด ลองกอง เงาะ มาปลูก ให้พืชทุกอย่างอยู่บริเวณเดียวกัน มังคุดจะทนความเค็มได้ และก็ช่วยดูดซับน้ำก่อนที่จะไปถึงรากทุเรียนได้ด้วย และนอกจากนี้บริเวณรอบโคนต้นก็จะปลูกถั่วบำรุงดิน ให้เป็นอินทรียวัตถุคอยดูดซับน้ำอีกทาง แล้วก็ช่วยให้ดินไม่ต้องเอาไนโตรเจนมากไป เพราะถ้าดูดไนโตรเจนมากเกินไป แทนที่ช่วงที่จะได้ผล มันก็จะไม่ได้ผล ก็จะเป็นใบอย่างเดียว”พี่บุษบา กล่าว
สำหรับการเลือกใส่ปุ๋ย ได้รับคำอธิบายว่า ที่สวนจะใช้ปุ๋ยเคมีน้อยมาก เนื่องจากความเค็มของน้ำจะมีคลอไรด์ มีไนโตรเจนอยู่แล้ว เพียงแค่เติมฟอสฟอรัส กับโพแทสเซียมลงไปเสริม ซึ่งโพแทสเซียมในดินมีมากพอแล้วจากน้ำเค็ม ที่สวนก็จะใส่ปุ๋ยที่มีแคลเซียมไนเตรตอย่างเดียว คือสูตร 15-0-0 ถือเป็นข้อดีของน้ำกร่อย ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยลงไปได้มาก
“จากปกติต้องใช้ปุ๋ยเคมีราคากระสอบละเป็นพันบาท แต่เรามาใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก อย่างมากก็ลิตรละ 50 บาท หรือปุ๋ยหมักก็ถุงละไม่กี่บาท ยิ่งถ้าเราทำเองเศษใบไม้ใบหญ้าเรามีเราก็ซื้อขี้ไก่มาใส่ สมมุติทำปุ๋ยตันหนึ่งเราซื้อขี้วัว ขี้ไก่ มาหมัก เต็มที่ก็ได้ประมาณตันหนึ่งพันกว่าบาท เราทำเบ็ดเสร็จใช้แรงงานเราเอง แต่ถ้าทำเคมีก็ตันละหมื่น ลดต้นทุนไปได้เยอะมาก”
เน้น Zero Covid เข้มข้น
สำหรับในช่วงเวลาปัจจุบัน สิ่งที่เกษตรกรสมาชิกให้ความใส่ใจ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด คือ มาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 หรือ Zero Covid ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอนายายอามได้เข้ามาให้คำแนะนำ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะประเทศจีนที่ที่วันนี้ต้อง Zero COVID เท่านั้น โดยได้ทำตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดทั้ง 11 ข้อ
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการระดับสวนเกษตรกร ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำให้ดำเนินการ และทางสวนทุเรียนน้ำกร่อยแห่งนี้ ได้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 1. มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อย่างน้อย 1 จุด 2. มีจุดล้างมือพร้อมน้ำยาล้างมือหรือเจล/สเปรย์แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 จุด 3. มีแนวกั้นบริเวณอาณาเขตของสวน และมีจุดเข้าออกทางเดียว 4. การเข้าออกของแรงงานและคนในสวน ห้ามไม่ให้แรงงานของสวนออกจากสวน หรือถ้ามีการออกจากสวนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิหรือมีมาตรการดำเนินการอื่นๆ 5. การเข้าออกของบุคคลภายนอก ห้ามบุคคลภายนอกเข้าออกสวนโดยไม่มีความจำเป็น และถ้ามีการเข้าออกต้องผ่านการคัดกรอง และมีการจดบันทึกทั้งคนและรถที่ผ่านเข้าออก 6. ให้แรงงานและผู้เกี่ยวข้องในสวนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม 7. มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและทุกคน 8. มีการตรวจ ATK ทุก 7 วัน ทั้งเจ้าของสวนและแรงงาน และคนเข้าออกสวนต้องมีใบรับรองผลตรวจ ATK 9. สวมถุงมือที่สะอาดในขณะที่มีการปฏิบัติงานในสวน 10. ต้องมีการเว้นระยะห่างของบุคคล อย่างน้อย 1 เมตร และ และ 11. มีการจดบันทึกทุกขั้นตอนในแต่ละวัน ได้แก่ การเข้าออกสวน ผลตรวจ ATK การวัดอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน เป็นต้น
“การที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ความสนใจ และเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกร ถือว่าเป็นประโชน์อย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพ ดั่งเช่นจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้แปลงใหญ่ทุเรียน ม.14 สามารถเกิดการพัฒนาก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ทั้งการยกระดับผลผลิตทุเรียนสู่การแข่งขันในตลาดส่งออก และการขยายผลเป็นจุดรวบรวมผลผลิตทุเรียนของอำเภอนายายอาม” นางสาวบุษบา กล่าวในที่สุด