เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย ได้ร่วมมือกันจัดการเสวนาวิชาการเรื่อง “ผลจากสงคราม!!! วิกฤตปุ๋ยแพงกับแสงที่ปลายอุโมงค์: ทางเลือกทางรอดของเกษตรกรและผู้ค้าของไทย” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์ราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยจัดในรูปแบบผสมผสาน คือ แบบออนไซต์ ณ ห้องรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับผลจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ (สงคราม) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างมาก ซึ่งการเกษตรเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเรื่องของราคาของปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น หนึ่งในปัจจัยการผลิตนั้นคือ ราคาของปุ๋ยที่มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย
โดยมี รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดการเสวนา และ รศ.ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย คณบดีคณะเกษตร กล่าวรายงาน
นายเทพวิทย์ เตียวสุรัตน์กุล (นั่งกลาง)
นายเทพวิทย์ เตียวสุรัตน์กุล ผู้แทนสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทย กล่าวว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงช่วงก่อนที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางการทหารต่อยูเครน ราคาปุ๋ยมีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากสาเหตุหลัก 4 ประการ คือ 1. ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก เช่น จีนและรัสเซียเริ่มจำกัดการส่งออกปุ๋ย จากนโยบายความมั่นคงทางด้านอาหาร 2. ห่วงโซ่อุปทานปุ๋ยเกิดปัญหา จากวิกฤตราคาพลังงานและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าและราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย โดยเฉพาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 3. ประเทศจีนใช้มาตรการทางศุลกากร เพื่อจำกัดการส่งออกปุ๋ย ตั้งแต่ปลายปี 2564 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาและปริมาณปุ๋ยภายในประเทศ และ 4. ราคาปุ๋ยโพแทชปรับตัวสูงขึ้น หลังจากประเทศเบลารุสซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกโดนคว่ำบาตรในช่วงปลายปี 2564 โดยต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาปุ๋ยปรับตัวขึ้นเกินเท่าตัว เช่น ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 จากกระสอบละ 500-600 บาท ปรับเพิ่มเป็น 1,300 บาท หรือปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต สูตร 18-46-0 จากกระสอบละ 700 บาท ก็ปรับเพิ่มเป็น 1,500 บาท เป็นต้น สำหรับช่วงหลังจากที่รัสเซียเริ่มเปิดปฏิบัติการทางการทหารต่อยูเครน และถูกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็ยิ่งซ้ำเติมทำให้ราคาปุ๋ยแพงขึ้นไปอีก เนื่องจาก 1. รัสเซีย คือ ผู้ส่งออกรายใหญ่ของแอมโมเนียและก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนการผลิตปุ๋ยเคมีในยุโรปปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และผู้ผลิตปุ๋ยในยุโรปเกือบทั้งหมดจำเป็นต้องหยุดการผลิตเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูง 2. การส่งออกปุ๋ยเคมีของรัสเซียได้รับผลกระทบจากการขนส่ง สกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขาย และค่าประกันภัยทางเรือที่สูงขึ้น และ 3. ค่าขนส่งทางเรือปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้หากทำการประเมินสถานการณ์แบบร้ายแรงที่สุด (Worst-case scenario) คือ การคว่ำบาตรประเทศรัสเซียที่อาจยาวนานออกไปอีก 3-5 ปี และประเทศจีนอาจขยายระยะเวลาจำกัดการส่งออกปุ๋ย ก็ย่อมส่งผลให้การส่งออกปุ๋ยจากจีน รัสเซีย และเบลารุส ยังคงมีอยู่อย่างจำกัดและเกิดความยากลำบากในการซื้อขาย ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนปุ๋ย โดยเฉพาะฟอสเฟตและโพแทชในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 90 ของปุ๋ยเคมีที่ใช้อยู่ในประเทศทั้งหมด หรือประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี 2564 ไทยมีการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียและเบลารุสรวมกันมากถึง 7.1 แสนตัน เป็นรองแค่ประเทศจีน 1.09 ล้านตัน และประเทศซาอุดีอาระเบีย 7.2 แสนตัน เท่านั้น นอกจากนั้นจะส่งผลให้ปุ๋ยในตลาดโลกมีราคาสูงอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสนผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยเคมี ได้แก่ 1. ปุ๋ยไนโตรเจน คือ ถ่านหิน น้ำมัน แก๊สธรรมชาติ 2. ปุ๋ยฟอสเฟต คือ หินฟอสเฟต 3. ปุ๋ยโพแทช คือ แร่โพแทช ทั้งนี้ปุ๋ยที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการผลิต คือ ปุ๋ยโพแทช เนื่องจากมีปริมาณสำรองของแร่ประมาณ 407,000 ล้านตัน แบ่งเป็นแร่โพแทชคุณภาพดีหรือแร่ซิลไวท์ประมาณ 7,000 ล้านตัน และแร่โพแทชคุณภาพรองลงมาหรือแร่คาร์นัลไลท์ ประมาณ 400,000 ล้านตัน ซึ่งพบอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีปัญหาอุปสรรคในการทำเหมืองโพแทช คือ ข้อกังวลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบเหมือง ทำให้มีการต่อต้านเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น การเกิดมลพิษ สารปนเปื้อน ความปลอดภัยต่อสุขภาพ การทรุดตัวของดิน และเกลือ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีของประเทศไทย พบว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีการจัดตั้งมาแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทปุ๋ยเคมี จำกัด (2506-2522) ที่เป็นโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนซึ่งใช้ลิกไนต์เป็นวัตถุดิบ และบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ (มหาชน) จำกัด (2525-2547) หรือบริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลิตปุ๋ยเชิงประกอบทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ทั้ง 2 บริษัทก็ประสบภาวะขาดทุน จึงยุติกิจการผลิตปุ๋ยไปในที่สุด นอกจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงวิชาการ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น (0-1 ปี) ว่า ควรเน้นการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยด้วยการปรับปรุงดินก่อนใส่ปุ๋ย/การแบ่งใส่ปุ๋ย/การใส่ปุ๋ยแบบฝังกลบ/การใช้ปุ๋ยกับระบบชลประทาน และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และหรือปุ๋ยชีวภาพร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี การพัฒนางานวิจัยดินและปุ๋ยควบคู่ไปกับและการทวนสอบคำแนะนำการใช้ปุ๋ยก่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ตรงกับพันธุ์พืชใหม่และสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งการใช้ปุ๋ยชนิดใหม่ เช่น ปุ๋ยที่มีการเคลือบผิวด้วยเรซิน ปุ๋ยละลายช้า และปุ๋ยที่เคลือบด้วยสารยับยั้งกิจกรรมของจุลินทรีย์ เป็นต้น ระยะกลาง (1-5 ปี) ควรมีการพัฒนาระบบการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแม่ปุ๋ยที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและราคาถูกกว่าการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปุ๋ยโพแทช ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศไทยที่อาศัยกรรมวิธีการผลิตแม่ปุ๋ยที่มีต้นทุนต่ำลง การเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีโดยการพัฒนาวัสดุเคลือบเม็ดปุ๋ยหรือชะลอการสูญเสียธาตุอาหารของปุ๋ยเคมี การพัฒนาผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่ช่วยในการตรึงไนโตรเจนหรือละลายฟอสเฟตในดิน และการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องกับทางกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาทางการเกษตร โดย นางสาวจรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ผู้แทนจากกรมวิชาการเกษตร ได้ให้แนวทางการแก้ไขผลกระทบจากราคาปุ๋ยแพงผ่านการประยุกต์องค์ความรู้ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ 1. ระบบเกษตรเคมี เน้นการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีการผลิตพืชและการใช้ชุดตรวจสอบธาตุอาหารในดินอย่างง่าย เช่น ชุดตรวจสอบอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป็นต้น นอกจากนั้นทางกรมวิชาการเกษตรกำลังพัฒนาชุดตรวจสอบอื่น ๆ เช่น ชุดตรวจสอบแคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน และเหล็ก เป็นต้น เพื่อให้การจัดการดินและปุ๋ยที่เกี่ยวข้องกับธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. ระบบเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์และ ปุ๋ยชีวภาพ เช่น ปุ๋ยหมักเติมอากาศ การใช้แหนแดง การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม และการใช้ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซา เป็นต้น นอกจากนั้นทางกรมวิชาการเกษตร ยังมีส่วนงานที่คอยกำกับดูแลการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปุ๋ย ได้แก่ การผลิต การจำหน่าย และการควบคุมคุณภาพอีกด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ
ด้าน นางสาวปนัดดา ทิพยะรัตน์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มส่งเสริมการจัดการดินปุ๋ย ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่ากรมส่งเสริมการเกษตรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยแก่เกษตรกรผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 882 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด ผ่านการดำเนินกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยผ่ายแปลงเรียนรู้/สาธิต การบริการตรวจวิเคราะห์ดิน การแปลผลวิเคราะห์ดินและให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ย และรวบรวมความ ต้องการปุ๋ยและบริการจัดหาปุ๋ยให้แก่สมาชิก เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความรู้เรื่องดินและปุ๋ยของเกษตรกร ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และขยายผลการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างในปี 2562 สมาชิก ศดปช. จำนวน 17,640 ราย ได้นำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปุ๋ยสั่งตัดไปใช้ในพื้นที่ปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา พืชผัก และไม้ผล ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.2 แสนไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 11.4% และลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 24.8 คิดเป็นมูลค่ากว่า 51 ล้านบาท นอกจากนี้ นางสาวปนัดดา ทิพยะรัตน์ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเร่งรัดแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ สำหรับปี 2565 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ ดังนี้ 1. สร้างช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงปุ๋ยเคมีราคาถูก เป้าหมายที่ 2.5 ล้านตัน 2. การผลิตปุ๋ยชนิดอื่น ๆ เพื่อทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีลงบางส่วน ได้แก่ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และวัสดุอินทรีย์ ปริมาณ 5.4 ล้านตัน 3. การพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และ 4. ให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ แนวทางการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูง ตามหลัก “4 ถูก” คือ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน โครงการรณรงค์การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ และโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชนแบบ One Stop Service ให้มีเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งไปที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) บางแห่งที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจบริการวิเคราะห์ดิน จำหน่าย และผสมปุ๋ย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มการพึ่งพาตนเองให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยฯ กับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และสามารถลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 37 คิดเป็นมูลค่ากว่า 244 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณกว่า 5.9 หมื่นตัน ในพื้นที่ 1.3 ล้านไร่
อย่างไรก็ตามการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ยังต้องอาศัยการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไป ได้แก่ การวิจัยคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสำหรับพืชพันธุ์ใหม่ ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ด้านราคาปัจจัยการผลิตและผลผลิต การพัฒนาขีดความสามารถในการวิเคราะห์ดินมาตรฐาน การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นทางการเกษตร และการบริการทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง โดยเกษตรกรควรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและควรใช้องค์ความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วมาใช้ร่วมกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ก็ควรมีการประสานความร่วมมือกันให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ดีมากขึ้น รวมทั้งทางรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องควรเร่งการพัฒนาโอกาสในการผลิตปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยโพแทชที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยอยู่เป็นจำนวนมากในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล็งเห็นถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงของวิกฤตปุ๋ยแพงต่อภาคการเกษตรของประเทศไทย จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผ่านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และที่มาของวิกฤตปุ๋ยแพง แนวคิดและวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว และเปิดเผยแนวทางและความพร้อมของหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อให้การแก้ไขวิกฤตและปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และยั่งยืน ติดตามรับฟังการเสวนา ผลจากสงคราม !!! วิกฤตปุ๋ยแพงกับแสงที่ปลายอุโมงค์ : ทางเลือกทางรอดของเกษตรกร และผู้ค้าของไทย” ได้ที่ https://youtu.be/-6MemDaqU8c
(ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 8 เมษายน 2565)