บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ลุยขยายโมเดลความสำเร็จ “เกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดเชียงราย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ สร้างโมเดล “เชียงราย เมืองต้นแบบปลอดการเผา” เป็นจังหวัดที่ 6 ดึงองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มุ่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พร้อมตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์โดยมีปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง ร่วมมือในการรับซื้อฟางข้าวจากเกษตรกร
นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยกว่า 50% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน สยามคูโบต้าจึงดำเนินโครงการ “เกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีการทำเกษตรปลอดการเผาตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้ องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มาปรับใช้
สำหรับโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบปลอดการเผา โดยตั้งเป้าให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และนำไปใช้ในการทำการเกษตรปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ โดยที่ผ่านมา สยามคูโบต้าได้จัดกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการจัดลงนามความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) แล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดราชบุรี ส่งผลให้ลดการเผาในภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสร้างรายได้และคืนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พี่น้องเกษตรกร
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดแรกในภาคเหนือที่ได้มีการเข้าร่วมโครงการเกษตรปลอดการเผา ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมในการต่อยอดโครงการดังกล่าว และหากมีการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดการเผาอย่างจริงจังจะช่วยลดจุดความร้อน หรือ Hot Spot ภายในจังหวัด อีกทั้งทำให้พื้นที่การเพาะปลูกข้าวในจังหวัดเชียงรายกว่า 1.36 ล้านไร่ สามารถประหยัดค่าปุ๋ย เพิ่มความสมบูรณ์ และอินทรีย์วัตถุในดิน ตลอดจนสร้างรายได้จากการจำหน่ายฟางข้าวอัดก้อน ประมาณ 50-100 บาท/ ไร่ คิดเป็น 144 ล้านบาท เพื่อจำหน่ายให้ผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์และโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ด้วย
นายภาสกร บุญญลักษม์
ด้าน นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่าโดยที่ผ่านมา ได้ประกาศขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่งทุกชนิด การดำเนินกิจกรรมทำแนวกันไฟลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่า รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรชุมชนต้นแบบนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ ซึ่งจังหวัดเชียงรายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือกับทางสยามคูโบต้าในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันในเชิงนโยบาย และสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) รวมถึงมุ่งแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เพื่อสร้าง “เชียงราย เมืองต้นแบบปลอดการเผา” ให้เกิดขึ้นได้จริง
นายวรการ พงษ์ศิริกุล
นอกจากนี้ นายวรการ พงษ์ศิริกุล ผู้อำนวยการโรงงานปูนลำปาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการสนับสนุนนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กลับมาใช้ประโยชน์และเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในการสนับสนุนทรัพยากรทั้งทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ความสามารถของบุคลากร และเครือข่ายที่มีให้เกิดประสิทธิผลในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นให้เกิดการผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนในการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรอย่างยั่งยืน
สยามคูโบต้ามุ่งมั่นผลักดันแนวคิดเกษตรปลอดการเผา ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือของโครงการฯ ในปี 2565 เพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดต้นแบบหมู่บ้านเกษตรปลอดการเผา เผยความสำเร็จที่สยามคูโบต้าได้เข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถนำความรู้มาลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรจนเกิดเป็นต้นแบบเกษตรปลอดการเผาได้จริง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป