กรมวิชาการเกษตร ย้ำจีนเชื่อมั่นมาตรการ GMP plus กำชับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุปฏิบัติตามมาตรการ GMP plus ป้องกันทุเรียนส่งออกปนเปื้อนโควิด ไม่จำเป็นต้องขอรับรองจากหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม เพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
นายระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเพื่อติดตามมาตรการจัดการส่งออกผลไม้ตามที่นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานกาณ์การส่งออกผลไม้ทุเรียนในภาคตะวันออกในฤดูกาลผลิตปี 2565 โดยได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีกำกับดูแลให้มีการใช้มาตรการ GMP plus กับโรงคัดบรรจุและให้ความรู้กับเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP ที่ผลิตผลไม้ส่งออกไปจีนเพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้อโควิด 19 ปนเปื้อนไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ ซึ่งจะทำให้สินค้าถูกทำลายหรือถูกระงับการส่งออก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกผลไม้ที่เป็นข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนในปัจจุบัน เนื่องจากผลผลิตทุเรียนในปี 2565 นี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจำนวนมาก
กรมวิชาการเกษตรขอยืนยันว่ารัฐมนตรีมนัญญาได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรควบคุมกำกับดูแลดำเนินการฆ่าเชื้อและตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโควิด 19 ภายใต้มาตรการ GMP plus เท่านั้น ซึ่งเป็นมาตรการที่หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ติดตามสุ่มตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผลไม้หรือทุเรียนมาแล้ว ซึ่งผลการประเมินอยู่ในระดับที่น่าพอใจของ GACC ดังนั้นโรงคัดบรรจุหรือผู้ส่งออกจึงไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจีน (CCIC) เนื่องจากจะทำให้โรงคัดบรรจุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
“ขอย้ำทำความเข้าใจกับผู้ส่งออกและเจ้าของโรงคัดบรรจุให้เข้มงวดตามมาตรการ GMP plus ก็เพียงพอแล้ว และกรมวิชาการเกษตรไม่ได้สนับสนุนให้โรงคัดบรรจุหรือผู้ส่งออกต้องนำผลผลิตเข้ารับการฆ่าเชื้อและติดสติกเกอร์ของ CCIC เพิ่มเติมในการส่งออกผลไม้หรือทุเรียนส่งออกไปจีน รวมทั้งกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้ให้การรับรองมาตรฐานให้กับ CCIC ด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว