กรมชลฯเกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยปี 65
กรมชลฯเกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยปี 65

กรมชลประทาน สั่งการเกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศประสานงานและตรวจสอบพื้นที่ที่มีการปรับปรุงอาคารชลประทานและทางน้ำที่อาจจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อให้สอดคล้อง 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 รวมไปถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม อีกทั้งยังต้องเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ แม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ขณะเดียวกันยังได้ให้สำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือ ให้กับบุคลากรของหน่วยงานในทุกพื้นที่ ให้สามารถบำรุงรักษาและใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน 

ทั้งนี้ ในแต่ละปีกรมชลประทาน ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำและแม่น้ำสายหลักต่างๆเพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับการวางแผนเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แต่ในปีนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนกลับภูมิลำเนาและทำอาชีพเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ที่เกินแผนส่งเสริมเท่าตัว แต่ทางกลับกันพบว่ามีการใช้น้ำเกินแผนไปเล็กน้อย โดยขณะนี้มีเพาะปลูกข้าวนาปรัง ฤดูกาลผลิต 2564/65 ทั่วประเทศ มีการปลูก ข้าวไปแล้วจำนวน 8.11 ล้านไร่ เกินแผนประมาณ 26.5% จากแผน 6.41 ล้านไร่ ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยว 5.22 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ ลุ่มเจ้าพระยาถือว่าเพาะปลูกข้าวมากที่สุด 4.41 ล้านไร่ มากกว่าแผน 56.75% จากแผนที่วางไว้ 2.81 ล้านไร่ ถือเป็นพื้นที่ที่ทำนาปรังมากที่สุด สัดส่วนประมาณ 55% ของพื้นที่ทำนาปรังทั่วประเทศ

ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2565 ปัจจุบันลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำต้นทุนที่ปริมาณน้ำใช้การได้ 10,600 ล้านลบ.มโดยมีแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งหมด 5,500 ล้านลบ.ม.  แบ่งเป็นพื้นที่เกษตร 2,830 ล้านลบ.มเพื่ออุปโภค-บริโภค450 รักษาระบบนิเวศ 1,210 ผันช่วยแม่น้ำท่าจีน,เจ้าพระยา 1,000ล้าน ลบ.ม และสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝน 5,100 ล้านลบ.ม  

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาลุ่มน้ำแม่กลองประสบกับภาวะภัยแล้งอยู่เสมอในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนของทุกปี ขณะเดียวกันยังพบปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดบรรจบลำน้ำสาขา เช่น ลำภาชีกับแม่น้ำแควน้อย ลำตะเพินกับแม่น้ำแควใหญ่และบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเลของลุ่มน้ำแม่กลอง รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพน้ำบริเวณที่ราบริมแม่น้ำแม่กลองและปากแม่น้ำจากชุมชนสารเคมีจากการเกษตรและปศุสัตว์ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 13ได้วางเผนรับมือทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวไว้เรียบร้อยหมดแล้ว    

สำหรับลุ่มน้ำแม่กลอง ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ 30,223.56 ตารางกิโลเมตร หรือ 18.89 ล้านไร่ แบ่งเป็น 17 ลุ่มน้ำสาขา สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ประมาณ 10.87 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 57.54 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ มีพื้นที่เกษตรประมาณ 4.54 ล้านไร่

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated