นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสำเร็จการรวมกลุ่มของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ในการปลูกข้าวโพดต้นสดพร้อมฝักและนำไปผลิตเป็น “ข้าวโพดช็อป” จำหน่ายแบบครบวงจรเพื่อส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทางกลุ่มได้มีการพัฒนาศักยภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านองค์ความรู้ของสมาชิกและเกษตรกรเครือข่าย การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด
จากการลงพื้นที่ของ สศท.7 เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อป พบว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 โดยมี นางสุริยา เลิศสรานนท์ เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 3,000 ไร่ สมาชิกเกษตรกรและเครือข่ายรวม 227 ราย ด้านการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดซื้อเครื่องม้วนข้าวโพดหมัก รถคีบ และรถบรรทุก 6 ล้อ สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตและขนส่ง โดยสมาชิกต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดแบบเดียวกัน ซึ่งทางคณะกรรมการแปลงใหญ่จะเป็นผู้จัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพื่อจำหน่ายให้แก่สมาชิกเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพของผลผลิต และเมื่อถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวทางกลุ่มจะจัดหารถเพื่อไปทำการเก็บเกี่ยวให้แก่สมาชิกโดยตรง นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้จัดทำบันทึกข้อตกลงสัญญาซื้อขาย (MOU) กับ 7 สหกรณ์ และ 1 ฟาร์ม ได้แก่ สหกรณ์โคนมสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สหกรณ์โคนมปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี สหกรณ์โคนมพัฒนานิคม สหกรณ์โคนมชัยบาดาล สหกรณ์โคนมท่าวุ้ง สหกรณ์โคนมหนองรี และฟาร์มโคขุน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
ด้านราคาเฉลี่ยในรอบปี 2564 ทางกลุ่มรับซื้อจากเกษตรกรในรูปของการสับบด (ข้าวโพดช็อป) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.41 บาท/กิโลกรัมสำหรับการส่งจำหน่ายของกลุ่ม จะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบบรรจุถุง ราคาถุงละ 55 บาท (ถุงขนาด 25 กิโลกรัม) และแบบอัดเป็นก้อนพร้อมแล็ปพลาสติก ราคาตันละ 2,700 บาท มีขนาด 70 กิโลกรัม และ 400 กิโลกรัม โดยผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ที่ทำ MOU และผลผลิตอีกร้อยละ 30 ส่งออกตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น กาตาร์ และเกาหลีใต้ จำหน่ายรูปแบบก้อน ขนาด 400 กิโลกรัม โดยขนส่งทางเรือ นอกจากนี้ยังมีประเทศจีนและประเทศเวียดนามให้ความสนใจและได้ติดต่อทำการซื้อขายกับทางกลุ่มมาเรียบร้อยแล้ว
สำหรับด้านของคุณภาพและมาตรฐานการผลิต เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพก่อนส่งออกสินค้าทุกครั้ง ทางกลุ่มจะนำข้าวโพดช็อปที่ผ่านการหมักแล้ว 21 วัน ไปตรวจสอบคุณภาพคุณภาพที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อาหารสัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบหาสารพิษตกค้างโดยส่งไปตรวจสอบที่ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด สาขาขอนแก่น ซึ่งเป็นรายการทดสอบขอบข่ายการรับรองจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นับว่าเป็นจุดแข็งของทางกลุ่มในด้านของกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง โดยระยะต่อไปทางกลุ่มมีแผนที่จะเพิ่มเครือข่ายสมาชิก ขยายพื้นที่เพาะปลูก และเพิ่มด้านของเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด
“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชที่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารโคนม ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ขณะที่การผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือ ข้าวโพดต้นสดพร้อมฝักมีอายุการเก็บเกี่ยว 70 – 85 วัน ซึ่งมีอายุน้อยกว่าการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปกติ และเพาะปลูกได้ 3 ครั้ง/ปี และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถนำมาหมัก หรือที่เรียกว่า “ข้าวโพดช็อป” เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต เนื่องจากเป็นที่นิยมนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นอาหารผสมสำเร็จรูป ที่เกิดจากการนำอาหารหยาบและอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม หรือ ที่เรียกว่า อาหาร TMR หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตข้าวโพดช็อป สามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อปตำบลหัวลำ เลขที่ 210 หมู่ที่ 5 ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่ นางสุริยา เลิศสรานนท์ ประธานกลุ่ม โทร 09 3321 4591 และ 08 1649 9440” ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวทิ้งท้าย