เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แห่งแรกของประเทศไทย
เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แห่งแรกของประเทศไทย

วันที่ 20 มิถุนายน 2565  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (KU- VBIC) ซึ่งนับเป็นศูนย์วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมแห่งแรกของประเทศไทย เฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ. ดร. ศศิมนัส อุณจักร์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ นักวิจัย อาจารย์ นิสิต ร่วมงาน

ภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการแสดงผลงานวิจัย “วัคซีน มก. เพื่อเกษตรกรรมไทย” นำผลงานในรูปแบบของผลิตภัณฑ์วัคซีน ชีวภัณฑ์ เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคสัตว์ ที่อยู่ในระดับ TRL4 -7 แพลตฟอร์มนวัตกรรมการออกแบบวัคซีนรูปแบบต่างๆ และโรงงานต้นแบบเพื่อใช้ผลิตวัคซีนและชีวภัณฑ์ ซึ่งมีความพร้อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน เกษตรกร และผู้สนใจ มาจัดแสดง อาทิ  วัคซีนปลานิล ชนิดกิน และ ชนิดฉีด , วัคซีนปลากะพงขาว , วัคซีนป้องกันโรคไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง ,วัคซีนต่อต้านเห็บโค ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม , วัคซีนเพื่อควบคุมและป้องกันโรค PRRS ในสุกร นอกจากนี้ ยังจัดสนทนา มินิ ทอล์ค กับ 5 นักวิจัย มก. ให้ความรู้เรื่องวัคซีนและการควบคุมโรค  ได้แก่  “Autogenous vaccine ทางเลือกใหม่ในการควบคุมป้องกันโรคในฟาร์ม” โดย ผศ.น.สพ.ดร. มานะกร สุขมาก คณะสัตวแพทยศาสตร์ “นวัตกรรมวัคซีนควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า” โดย น.สพ.ดร. อรรถพล กำลังดี คณะสัตวแพทยศาสตร์  “วิธีการควบคุมเห็บ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพของคนไทย” โดย ศ.น.สพ.ดร. สถาพร  จิตตปาลพงศ์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์  “การพัฒนานาโนวัคซีนแบบกินและแบบแช่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแบคทีเรียที่สร้างความเสียหายในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวของประเทศไทย” โดย ผศ.ดร. ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ คณะประมง “แพลตฟอร์มการออกแบบวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์น้ำ เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน” โดย รศ.ดร. ศศิมนัส อุณจักร คณะวิทยาศาสตร์

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันความมั่นทางด้านอาหาร หรือ food-security กลายเป็นเรื่องสำคัญที่หลาย ๆ ประเทศตระหนักและเตรียมรับมือหากเกิดปัญหา เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอและปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนด้านการผลิตให้มีความพอเพียง ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารในสังคม และรักษาเสถียรภาพให้มีความเพียงพอตลอดเวลา อีกทั้งมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมให้เกษตรกรรมไทยมีความยั่งยืน ประชากรกินดีอยู่ดี เพิ่มความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการเกษตรกรรม ทั้งด้านพืช สัตว์ และสุขภาพของผู้บริโภคให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ มหาวิทยาลัยจึงจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU- VBIC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและพัฒนาการใช้องค์ความรู้ การให้คำแนะนำ และบริการด้านการวิจัย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์นวัตกรรมการวิจัย ผลผลิตงานวิจัย และผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้า หรือผลิตภัณฑ์กลุ่มวัคซีน และชีวภัณฑ์จากต่างประเทศ โดยมุ่งหวังในการเป็นส่วนหนึ่งของภาคการผลิตสินค้าการเกษตร เพื่อให้ประเทศสามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen of the World) และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของคนไทย และส่งผลให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและของประเทศ นอกจากนี้ยังต้องการความร่วมมือจากภาครัฐในการผลักดันให้การใช้วัคซีนและชีววัตถุในภาคการเกษตร โดยเฉพาะด้านสัตว์ สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งยังสนับสนุนนโยบายสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย โดยขยายผลมาถึงเกษตรกรรมองค์รวมเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย (food safety and food security) และส่งเสริมการใช้วัคซีนเพื่อเกษตรกรรมไทย อย่างยั่งยืน 

รศ. ดร. ศศิมนัส อุณจักร์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมวัคซีนและชีวภัณฑ์: ด้านสัตว์ ประกอบด้วยเครือข่ายกลุ่มวิจัยจากคณะเกษตร คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะประมง คณะวิทยาศาสตร์ และคณะอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มีองค์ความรู้เชิงลึกในด้านสุขภาพสัตว์ และการจัดการโรคสัตว์ติดเชื้อทั้ง อุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ อีกทั้งมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนาต้นแบบวัคซีนและชีวภัณฑ์ทั้งในส่วนห้องปฏิบัติการและภาคสนามที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นต้นแบบใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ได้

ปัจจุบัน วัคซีนและชีวภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมโรคในสัตว์มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาขั้นสูง ทำให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ควบคุมโรคในพื้นที่เลี้ยงจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น วัคซีนชนิดออโตจีนัส (autogenous vaccine) ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) เพื่อให้มีการผลิตและนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว และการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาวัคซีนหน่วยย่อย (subunit vaccines) ที่ประกอบด้วยวัคซีนชนิดรีคอมบีแนนต์ (recombinant protein vaccines) และดีเอ็นเอวัคซีน (DNA vaccine) ทำให้มีคุณสมบัติและประสิทธิภาพใกล้เคียงวัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าและปลอดภัยกว่า

ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีวิจัยและพัฒนาวัคซีนชนิดออโตจีนัส และมีทรัพยากรกายภาพที่พร้อมต่อการผลิตวัคซีนให้พร้อมใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์เพื่อควบคุมโรคติดเชื้อและโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีวิจัยและพัฒนาวัคซีนขั้นสูง ที่สามารถออกแบบและผลิตวัคซีนหน่วยย่อยเพื่อควบคุมโรคติดเชื้อแบบยั่งยืน และมีความพร้อมทั้งในโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตวัคซีนเพื่อการศึกษาระดับภาคสนาม เพื่อให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมีงานวิจัยและผลิตภัณฑ์กลุ่มชีววัตถุ และสารชีวภัณฑ์ที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการเกษตร และด้านอื่น ๆ เช่น การผลิตเปปไทด์ต้านจุลชีพ (antimicrobial peptide) เพื่อใช้ในการควบคุมโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือการผลิตโปรตีนรีคอมบีแนนต์ชนิดต่าง ๆ เพื่อการวินิจฉัยโรคทางการสัตวแพทย์ และทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีวัคซีนสัตว์หลากหลายชนิดที่มีการวิจัยและพัฒนา และที่ผ่านการทดสอบระดับภาคสนาม เพื่อใช้ควบคุมโรคสัตว์หลายชนิด ซึ่งพร้อมต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ และต้องการการสนับสนุนการพัฒนาจากต้นแบบไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการผลักดันวัคซีนสัตว์ให้ใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

(ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์  / หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /20 มิถุนายน 2565)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated