คำเปรียบเปรยที่ว่า “โง่เหมือนควาย” มาจากไหน? เพราะในความเป็นจริงแล้ว ควายฉลาดและสอนได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาควายจึงถูกใช้เป็นแรงงานหลักในการทำเกษตรกรรม “ควาย” หรือ “กระบือ” สามารถทำงานได้ปีละประมาณ 4 เดือน ทำงานวันละ 5 ชั่วโมง กระบือตัวหนึ่งใช้งานไถนาเฉลี่ยปีละ 10 ไร่ ในภาพความทรงจำควายคือสัตว์เลี้ยงที่มีบุญคุณมานานนับปีที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวนา แต่ในปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจส่งผลให้การใช้แรงงานควาย หรือ กระบือลดน้อยลง แต่กลับเน้นในเรื่องของการบริโภค จึงต้องมีการอนุรักษ์กระบือไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค
จากข้อมูลกรมปศุสัตว์ปัจจุบันสถานการณ์กระบือทั่วประเทศในปี 2564 มีจำนวน 1.5 ล้านตัว โดยมีปริมาณลดลงจากปี 2540 ที่มีจำนวนกระบือประมาณ 2.2 ล้านตัวทั่วประเทศ แต่เนื่องจากวิถีชีวิตของเกษตรกรได้เปลี่ยนไปจากการใช้แรงงานกระบือมาใช้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรไถนา อย่างไรก็ตามได้มีการพัฒนาผลิตกระบือคุณภาพและการจัดการดูแลพัฒนาพันธุ์กระบืออย่างจริงจัง เป็นการส่งเสริมการผลิตกระบือสู่ท้องตลาดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรสร้างรายได้จากการขายกระบือเพื่อการบริโภคทดแทนการใช้งาน
กระบือในพิธีสู่ขวัญ รอง ผบ.มทบ. 19 ผู้ตรวจราชการ ดร ดนัย สู่ขวัญควาย
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และองค์กรภาคี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี จัดโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 18” นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศลงพื้นที่ร่วมประสบการณ์การทำการเกษตร พร้อมร่วมอนุรักษ์กระบือไทย ทำกิจกรรมการฝึกกระบือเพื่อทำการเกษตร การทำบ้านดิน การหว่านข้าว ทำพิธีสู่ขวัญควายเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ และยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างบุญการไถ่ชีวิตกระบือ 28 ตัว รวมลูกในท้อง 6 ชีวิต ทั้งหมด 34 ชีวิต โดยมูลนิธิธรรมดี มูลนิธิพุทธภูมิธรรมและเครือข่ายปุญภาคี ผู้มีหัวใจแห่งพระโพธิสัตว์ ในจำนวนนี้มีกระบือเผือก 1 ตัว เพศผู้ อายุ 4 ปี ชื่อ “แก้ว” ซึ่งมูลนิธิฯ จะทำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯถวายเป็นกระบือทรงเลี้ยงคู่กับคุณเผือก ณ โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สระแก้ว หนึ่งในโครงการที่ได้ถูกคัดเลือกอยู่ในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา โดยศูนย์คุณธรรมร่วมกับองค์กรภาคี จัดทำสรุป 9 เส้นทาง 81 แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สำหรับกระบือที่เหลือรับมอบโดย พ.อ. สุชญาณ ศรีตระกูล รอง ผบ.มทบ. 19 เพื่อนำไปปรับปรุงพันธุ์ขยายพันธุ์ และอนุรักษ์ไว้ต่อไป
คุณตรีนุช เทียนทอง ประธานในพิธี จุดทียนทำพิธีสู่ขวัญควาย คุณตรีนุช เทียนทอง รมต.ศึกษาธิการ และ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว เกิดขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกกระบือให้สามารถไถนาและทำงานด้านเกษตรกรรมและสอนผู้ที่ต้องการใช้กระบือทำการเกษตรให้สามารถทำงานร่วมกับกระบือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดูแลกระบือให้มีสุขภาพแข็งแรง และยังเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบพื้นบ้านที่เรียบง่ายและการใช้ชีวิตแบบพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ “กาสร” แปลว่าควายหรือกระบือ ส่วน “กสิวิทย์” คือความรู้สำหรับการกสิกรรม เกษตรกรและผู้ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในโรงเรียน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อม รักษาธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและพึ่งพิงกันได้ตลอดไป
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) นางวิชชุดาและทีมงานพร้อมกระบือ
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เกษตรกรรมเป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทุกวันนี้วิถีชีวิตของเกษตรกรปรับมาเป็นเกษตรดิจิทัลที่ใช้นวัตกรรมเครื่องมือการจัดการที่ทันสมัย แทนการใช้แรงงานกระบือ แต่เราต้องไม่ลืมพื้นฐานดั้งเดิมการทำนาของชาวนาไทย และคู่บุญชาวนา คือ“ควาย” หรือกระบือ สัตว์เลี้ยงที่ทำประโยชน์สร้างรายได้ให้กับชาวนา การได้มาศึกษาเรียนรู้การฝึกกระบือและการไถนาที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จึงเป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พิธีสู่ขวัญควาย” เพื่อแสดงการขอบคุณและขอขมา เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณและไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงความสำคัญของกิจกรรมที่แสดงออกถึง “ความกตัญญูรู้คุณและความเมตตากรุณา”ที่เป็นคุณธรรมสำคัญในการใช้ชีวิตทุกวันนี้ ซึ่งทิพยประกันภัยห่วงใยทุกชีวิตในสังคมกับโครงการ ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด พร้อมช่วยเหลืออนุรักษ์กระบือไทย ให้ยังคงอยู่คู่บ้านเมืองของเรา”
รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี และ บุญหลาย
รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า บทบาทของศูนย์คุณธรรม คือการส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคมคุณธรรม และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนให้ได้เข้าใจถึงคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู การที่ครูอาจารย์ได้มาร่วมทำกิจกรรมการทำการเกษตรที่โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว นับว่าเป็นประสบการณ์การเรียนรู้คุณธรรมได้ครบทุกมิติ พร้อมคาดหวังให้นำไปใช้ปฏิบัติจนเกิดเป็น “วิถีชีวิต” ต่อไป
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย และบุญหลาย
ด้าน ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับควาย” ที่มีมาช้านาน เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจและสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาจิตใจของคน การสอนกระบือให้เรียนรู้เพื่อให้สามารถช่วยชาวนาทำงานได้นั้น ไม่ใช่เฉพาะกระบือเท่านั้นที่ถูกฝึก แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการสอนกระบือให้เป็นงาน คือ “คน” ที่จะได้ทั้งความผูกพัน ความเป็นเพื่อน ความกตัญญู ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ คิอ “ควายสอนคน” เป็นความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณที่สร้างให้เกิดความรักสามัคคีในครอบครัวไปถึงชุมชนและสังคม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงชาติบ้านเมือง เราจึงควรดำรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีพ ไปจนถึงรุ่นลูกหลานให้มีความเข้าใจและภาคภูมิใจในความเป็นไทย พร้อมกับน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงวางรากฐานของความพอเพียงช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤติต่างๆ มาได้จนถึงทุกวันนี้”
กิจกรรมหว่านข้าว ภาพหมู่กลางทุ่งพร้อมกระบือ
สำหรับกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 19 จะจัดขึ้นอีกในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 23 – 24 กรกฎาคม 2565 ณ โครงการสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร จ.เพชรบุรี หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation