นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่ากรมส่งเสริมการเกษตรได้น้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” และศาสตร์ของพระราชา “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการบนฐานของความต้องการของประชาชนและศักยภาพของพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อลดและบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เน้นให้มีการรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาองค์รวมของชุมชนให้มีความเข้มแข็งในอาชีพเกษตร ส่งเสริมและสร้างเกษตรกรต้นแบบที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จนสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ให้มีการผลิตเพื่อลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ในครัวเรือน มีการใช้ที่ดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยชุมชนได้กำหนดแนวทางการพัฒนาไว้เป็นเป้าหมาย ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าด้านการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงในราคาผลผลิตตกต่ำ รณรงค์ ลดการใช้สารเคมี การทำปุ๋ยน้ำหมักใช้เองเพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างเกษตรกรต้นแบบ เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตเข้าสู่ตลาดสินค้าการเกษตรระหว่างชุมชน
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า บ้านกูแบสีรา เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในอดีตประสบปัญหายากจน ภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก บางปีประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย และถนนภายในหมู่บ้านถูกตัดขาด กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง และตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2544 เป็นต้นมา ความทุกข์ยากดังกล่าวได้คลี่คลาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านกูแบสีรา ตั้งแต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงศึกษาข้อมูล และทรงสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ ทรงรับฟังสภาพปัญหาของพื้นที่จากส่วนราชการที่กราบบังคมทูลรายงาน ทั้งเรื่องน้ำ ดิน และความเป็นอยู่ของราษฎร
จากนั้นจึงได้พระราชทานคำแนะนำ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่า “ให้แก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อน พร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาในภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วนเป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ” ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้ประสานงานกันให้ดี กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และคณะทำงานได้สนองพระราชดำริ โดยได้วางแผนให้นำผลการศึกษาทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำมาประยุกต์ใช้ให้แก่ราษฎร ทั้งในด้านการแก้ไขและปรับปรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลุ่ม ให้ราษฎรประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการพัฒนาอาชีพเกษตร ได้เน้นส่งเสริมรายได้ โดยวางแผนการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะข้าว ส่งเสริมการปลูกไม้ผลพันธุ์ดี ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ เกษตรผสมผสาน และการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช จนปัจจุบันชาวบ้านมีความเข้มแข็ง และดำรงวิถีชีวิตแบบพอเพียงอย่างมีความสุขและยั่งยืน
กรณีของ นางดวง ช่วยเมือง เกษตรกร หมู่ 4 ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตามโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้มีแนวคิดในการทำการเกษตรแบบลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ด้วยการทำการเกษตรแบบยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน เน้นการมีอาหาร 5 หมู่ไว้บริโภค แบ่งปัน มีเหลือจึงจำหน่าย และการใช้ที่ดินและน้ำในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในรูปแบบการปลูกพืชในถุงแสนดี เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ สามารถสร้างรายได้เฉลี่ย 180,000 ต่อปี มีรายจ่ายต้นทุนเฉลี่ย 80,000 ต่อปี รวมทั้งได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเกษตร เป็นผู้ช่วยของเกษตรตำบลและตัวแทนชุมชนในเรื่องการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในพื้นที่ สร้างความเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีกับภาครัฐ ทำให้ชุมชนเข้าใจเข้าถึงการพัฒนา มีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพการเกษตร เพื่อนเกษตรกรหันมาให้ความสำคัญในการผลิตพืชอาหารมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ด้าน นางดวง ช่วยเมือง กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา ทำให้ตนเองตระหนักและยิ่งมีความเชื่อมั่นในการนำแนวทางพระราชทาน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติตาม ทำให้เกษตรกรในชุมชนต่างสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน จากการทำเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและสามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านและชุมชนได้
“นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้ที่เป็นต้นแบบ สามารถขยายผลให้เกษตรกรในชุมชนนำไปปฏิบัติได้ ในเรื่องการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในการปลูกถั่วฝักยาวไม่ให้หงิกงอ ฝักสวย คือ ก่อนที่ถั่วฝักยาวจะติดดอก ให้ใช้ยาฉุนแช่น้ำผสมกำมะถันผงพอประมาณ จากนั้นกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นให้ทั่ว เพื่อป้องกันเพลี้ยไฟเข้าทำลาย เนื่องจากเพลี้ยไฟเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถั่วฝักยาว ฝักไม่สวยงาม มีรูปร่างหงิกงอ จากนั้นประมาณ 2-3 วัน ทำการพรวนดินแล้วโรยมูลไก่ หรือมูลวัวตากแห้งรอบ ๆโคนต้น โดยห่างจากโคนต้นประมาณ 10 ซม. ใช้อัตรา 1 กำมือต่อหลุม แล้วอีก 2-3 วันต่อมา ให้นำปุ๋ยสูตร 15-15-15 โรยรอบโคนต้น ห่างจากโคนต้นประมาณ 10-20 ซม. ในอัตราครึ่งช้อนแกงต่อหลุม จะทำให้ถั่วฝักยาวสวยงาม ฝักตรง อวบ ไม่หงิกงอ อีกทั้งมีรสชาติหวานกรอบอีกด้วย” นางดวง กล่าวในที่สุด