“กาลครั้งหนึ่งฟาร์ม” เลขที่ 299 หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โทร.09-4829-7936 เป็นฟาร์มโคนมที่เกิดขึ้นจากสองมือ ของ Young Smart Farmer รสิตา จรดล และ คมสันต์ สารรักษ์ และวันนี้ ยังได้เป็นฟาร์มต้นแบบการขับเคลื่อน BCG Economy Model ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.
ทั้งนี้ นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้กล่าวระหว่างการติดตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของกาลครั้งหนึ่งฟาร์ม ในฐานะเป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยภายใต้หลัก BCG ที่นำไปสู่ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการเสริมศักยภาพการแข่งขันของเกษตรกรไทยในเวทีการค้าโลก ว่า ธ.ก.ส. กำหนดวิสัยทัศน์ เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน โดยในปีบัญชี 2565 ธ.ก.ส. วางนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้หลัก BCG Economy Model เพื่อต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางภูมิสังคม – วัฒนธรรม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริม เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตจากทำมากแต่ได้น้อย ไปสู่ทำน้อยแต่ได้มาก และตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัยของโลก
โดย BCG Economy Model ประกอบด้วย Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ หนุนแนวคิด Zero waste ในการลดขยะให้เป็นศูนย์และ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ การลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน
“ ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนเกษตรกรทั้งที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. อยู่แล้ว บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงแรงงานคืนถิ่นที่พร้อมจะนำความรู้เทคโนโลยีและประสบการณ์กลับมาพัฒนาภาคการเกษตรและบ้านเกิดผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำทุกรูปแบบ เช่น โครงการสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อ SMAEs สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย สินเชื่อ Green Credit เป็นต้น” นายสมเกียรติ กล่าว
ใช้เทคโนโลยีด้านการเลี้ยงโคนมแบบย่อส่วน
จากจุดเริ่มต้นที่เรียกว่า ล้มลุกคลุกคลาน เพราะไม่เคยมีประสบการณ์กับการเลี้ยงโคนมมาก่อน แต่ด้วยใจรัก และต้องการสร้างธุรกิจที่เป็นของตนเอง รสิตา บอกว่า ไม่เคยย่อท้อ แต่มุ่งเดินหน้าแก้ปัญหา และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีด้านการเลี้ยงโคนมแบบย่อส่วนจากต่างประเทศ มาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์มโคนม เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้หลักการสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์
“การทำฟาร์มโคนม ต้องมีความรู้เรื่องโค ต้องเข้าใจพฤติกรรมของโค ว่ากินอะไรจึงจะดีต่อสุขภาพของเขา อยู่แบบไหนถึงจะสุขภาพดี อาการแบบนี้เป็นอย่างไร ป่วยหรือไม่ ป่วยเพราะอะไร ส่วนเทคโนโลยี เป็นเพียงเครื่องผ่อนแรงที่เข้ามาช่วยให้งานในฟาร์มสบายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งหากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แล้ว จำเป็นต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยีนั้น และปรับให้เทคโนโลยีมีความเหมาะสมกับฟาร์มหรือปัญหาที่ต้องแก้ไข และที่สำคัญต้องใช้งานได้จริง”รสิตา กล่าว
เทคโนโลยีการย่อส่วน เป็นศัพท์ที่ทางฟาร์ม ใช้สื่อสารกับเพื่อนเกษตรกรที่สนใจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะ ต้องการสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีต้นแบบที่มีการใช้กันในฟาร์มขนาดใหญ่ในต่างประเทศ แต่มีปัญหาสำคัญว่า มีต้นทุนที่แพงมาก จึงมีการนำเทคโนโลยีนั้นเข้ามาปรับให้เหมาะสมต่อฟาร์มขนาดเล็กในประเทศไทย ให้เกษตรกรไทยรายย่อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายและใช้งานได้จริง โดยมีกาลครั้งหนึ่งฟาร์มเป็นฟาร์มต้นแบบครบวงจร ตั้งแต่การเลี้ยงโคให้ได้น้ำนมที่มีคุณภาพที่สุด ซึ่งน้ำนมสดที่ได้ จะมีทั้งการส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์รวบรวมน้ำนมดิบในพื้นที่ และการนำมาแปรรูปน้ำนมในลักษณะโฮมเมดมิลค์ เช่น โยเกิร์ต ไอศกรีมโยเกิร์ตและมอสซาเรลลาชีส รวมถึงการนำวัสดุเหลือทิ้งในฟาร์มอย่างขี้วัวนมมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ วันนี้จึงถือเป็นแบบอย่างของการยกระดับฟาร์มโคนม จนนำมาสู่การสร้างรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เริ่มแรกใช้เฉพาะในฟาร์มของตัวเองก่อน เพราะอยากสบาย แต่เมื่อได้มีการถ่ายคลิปเผยแพร่ออกไป ผ่านทาง facebook.com/onceuponatimedairy ทำให้เกษตรกรจากที่ต่าง ๆ สนใจ และต้องการใช้งานเทคโนโลยีนี้บ้าง เราเลยจัดตั้งเป็นบริษัทผลิตเครื่องจักรเหล่านี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ”
เครื่องรีดน้ำมูลโคอบแห้ง
โดยหนึ่งในรูปแบบของการสร้างรายได้ตาม BCG Economy Model คือ การใช้นำของที่มีอยู่ในฟาร์มมาสร้างมูลค่า เช่น มูลโคจากแม่วัวนมที่เลี้ยง 40 แม่ จะถูกรวบรวมมาผ่าน เครื่องรีดน้ำมูลโคอบแห้ง ก่อนนำออกจำหน่าย
เครื่องแยกกากมูลโค คือ หนึ่งในเทคโนโลยีย่อส่วน ที่ทางฟาร์มได้ปรับปรุงขึ้น และกำลังเป็นที่สนใจ ด้วยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมูลโคด้วยการแปรรูป ลดต้นทุนในการนำเข้าเครื่องรีดน้ำในมูลโคสดจากต่างประเทศและลดปัญหามลภาวะเรื่องกลิ่นอีกด้วย
เครื่องแยกกากมูลโคของกาลครั้งหนึ่งฟาร์ม ตัวเครื่องทำด้วยเหล็กหล่อทั้งหมด การเกิดการสึกกร่อยจากมูลโคน้อยมาก ทำให้อายุการใช้งานได้ยาวนาน ภายในใช้ระบบสกรูเพลท เมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะได้มูลโคที่มีความชื้น 36 เปอร์เซ็นต์ กำลังการผลิตอยู่ที่ 1,500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ปัจจุบัน ทางฟาร์มได้จดทะเบียนเป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องแยกกากมูลโค กับสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) จังหวัดชัยภูมิ เพื่อจำหน่ายเครื่องรีดน้ำฯ ไปยังเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง โดยทางฟาร์มสามารถจำหน่ายได้เฉลี่ยแล้วเดือนละ 1 เครื่อง ด้วยสนนราคาอยู่ที่ 480,000 บาท
“ ส่วนราคาจำหน่ายมูลโคที่ผ่านเครื่องแยกกากมูลโค มีข้อเด่นคือ มีคุณภาพดี สะอาด ปราศจากเมล็ดหญ้า โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท โดยการจำหน่ายนั้นจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้มูลโคที่มีคุณภาพสูง เช่น กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไส้เดือน กลุ่มเลี้ยงบอนสี ซึ่งมีการทำตลาดโดยเน้นผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้การผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด” รสิตา กล่าวในที่สุด