อีซี่ เทค ฟาร์ม เป็นฟาร์มเลี้ยงหมูขุน ตั้งอยู่เลขที่ 331 บ้านนาแกเหนือ หมู่ที่ 10 ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมี ผศ.ดร. อภิชาติ อาจนาเสียว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าของ คืออีกหนึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนาคารที่มีวิสัยทัศน์การดำเนินงานอย่างเด่นชัดว่า เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งให้การสนับสนุนเติมทุนให้เกษตรกรด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำทุกรูปแบบ เพื่อนำเกษตรกรไปสู่ความสำเร็จ อย่างยั่งยืนภายใต้หลัก BCG สร้างเมืองไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัยของโลก
ความโดดเด่นของ อีซี่ เทค ฟาร์ม อยู่ที่การเลี้ยงหมูแบบครบวงจร กำหนดแผนดำเนินงานอย่างครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด เสริมความแข็งแกร่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงด้วยการใช้โรงเรือนอัจฉริยะในรูปแบบของโรงเรือนเปิดที่เกิดขึ้น จากการคิดค้นพัฒนาของ ดร. อภิชาติ ส่งผลให้การเลี้ยงสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จ สร้างรายรายจากการเลี้ยงหมูขุนใน 1 รอบ หรือในระยะเวลา 5 เดือน ให้มีกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 300,000-500,000 บาท
ในโครงการ New gen hug บ้านเกิด ในปี 2563 อันเป็นโครงการที่ค้นหาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้สามารถพึ่งตนเองได้ พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส. ดร.อภิชาติ ได้นำรูปแบบการเลี้ยงหมูขุนส่งเข้าร่วมการประกวด ภายใต้ชื่อ ทีมเรื่องหมูหมู และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล ชมเชย BAAC The Idol ประเภททีมด้านเกษตรเทคโนโลยี
หมู ยังราคาดีต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ปี
ก้าวการพัฒนาของอีซี่ เทค ฟาร์ม ได้เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนด้านสินเชื่อโดย ธ.ก.ส. จากการตั้งฟาร์มครั้งแรก เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยมีจำนวนหมูขุนเพิ่มขึ้น จาก 200 ตัว เป็น 1,000 ตัว มีโรงเรือนเลี้ยงหมูทั้งหมด 5 โรงเรือน ๆ ละ 200 ตัว แยกพื้นที่กัน โดยโรงเรือนเป็นรูปแบบที่คิดค้นพัฒนาขึ้นเอง ในรูปแบบคอกปิดที่ใช้ระบบจัดการอัตโนมัติที่ง่ายและราคาถูก ซึ่งข้อมูลสามารถส่งขึ้น Cloud ได้ สามารถติดตามข้อมูลได้จากทั่วโลก ผ่านมือถือและคอมพิวเตอร์ พร้อมกันนี้ยังมีการเสริมรายได้ด้วยการเลี้ยงแกะ แพะ วัว หรือกระบือ
ทั้งนี้ ดร.อภิชาติ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับอาชีพการเลี้ยงหมูขุนในปัจจุบันและอนาคตว่า
“จากสถานการณโรคระบาด ASF หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในปีที่แล้ว ส่งผลทำให้หมูในประเทศได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ประเมินว่ามีหมูเหลืออยู่ในระบบเพียง 30-40% เท่านั้น ส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มในประเทศสูงเป็นประวัติการณ์โดยมีราคาสูงสุดถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ลดลงตามไปด้วย ประเมินว่าการเพิ่มจำนวนหมูแม่พันธุ์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ปี เพราะหมูแม่พันธุ์ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงให้โต จึงจะมีปริมาณแม่พันธุ์เท่ากับสภาวะหมูก่อนมีการระบาดของโรค ASF ดังนั้นราคาหมูจะแพงต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ประกอบกับสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน มีผลทำให้ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลจากเหตุการณ์ทั้ง 2 อย่าง ประเมินได้ว่าราคาหมูจะมีราคาสูงไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีนี้”
“ ดังนั้นการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงหมูให้เร็วจึงเป็นโอกาสดีในการทำธุรกิจหมูขุน แต่ทั้งนี้วิธีการจัดการในฟาร์มเลี้ยงหมูจะต้องมีการปรับปรุงด้วย โดยต้องมีการนําเทคโนโลยีมาช่วยในการเลี้ยงมากขึ้นเพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากโรคระบาด ASF”
วันนี้ อีซี่ เทค ฟาร์ม จึงเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูที่โดดเด่นมากอีกแห่งหนึ่ง องค์ประกอบที่นำไปสู่ความสำเร็จมีมากมาย แต่ในที่นี้ จะขอเน้นเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ในรูปแบบของ ฟาร์มอัจริยะ หรือ Smart Farm
“ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอย่างง่ายและราคาถูก ที่นำมาใช้กับคอกหมูแบบเปิดและแบบปิดเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถเลี้ยงหมูได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวัดได้จากค่าอัตราการแลกน้ำหนักของหมู, FCR เท่ากับ 2.4-2.6 ซึ่งค่ามาตรฐานที่ใช้อาหารแบบเดียวกันและเลี้ยงในคอกปิด ซึ่งเป็นข้อมูลจาก CP อยู่ที่ 2.77 และคุณภาพซากของหมูขุน A หรือ AA” ดร.อภิชาติ กล่าว
ระบบให้อาหารและน้ำที่ผสมในถาดหมูอัตโนมัติ
ระบบให้อาหารและน้ำที่ผสมในถาดหมูอัตโนมัติ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ ดร.อภิชาติ ได้คิดค้นพัฒนาจนสำเร็จ โดยระบบดังกล่าว สามารถดูข้อมูลได้แบบ real time ผ่านมือถือ และคอมพิวเตอร์พร้อมเก็บข้อมูลบน Cloud สามารถดูย้อนหลังได้
ดร.อภิชาติ กล่าวว่า ระบบนี้เป็นระบบที่นําอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจจับระดับอาหารในถังอาหารหมู รวมทั้งชุดกล่องควบคุม การเปิด-ปิดรีเลย์(สวิตช์ไฟฟ้า) เพื่อสั่งให้มอเตอร์ท่อลําเลียงอาหารทำงานจากไซโล มาเติมอาหารที่ถังอาหารหมู การทำงาน คือ เมื่อเซ็นเซอร์วัดระดับอาหารตรวจจับได้ว่า มีอาหารในถังอาหารที่มีถาดให้หมูกินมีระดับต่ำกว่าที่ตั้งไว้ บอร์ดในกล่องควบคุมการป้อนอาหารจะสั่งให้รีเลย์ ไปเปิดการทำงานของมอเตอร์ต้นกําลังเพื่อ ป้อนอาหารจากถังอาหารใหญ่มาที่ถังอาหารที่มีถาดให้หมูกิน จนอาหารถึงระดับที่ต้องการ บอร์ดจะสั่งให้รีเลย์ ไปปิดการทำงานของมอเตอร์ โดยระดับอาหารสามารถตั้งระยะได้ 10-80 ซม.
นอกจากนี้ ในกล่องควบคุมจะมีบอร์ดที่ใช้ส่งข้อมูลผ่านไวไฟ เพื่อส่งข้อมูลทุกครั้งที่มีการทำงานของมอเตอร์ต้นกําลัง ไปที่โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ เพื่อให้รู้ปริมาณอาหารที่หมูกินในแต่ละวัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการ ติดตามผลการเลี้ยงในแต่ละช่วง ส่วนการควบคุมการให้น้ำไปผสมกับอาหารในถาด ทําได้โดยการตั้งเวลาที่ไทม์เมอร์ ให้โซลินอยวาล์วน้ำเปิดน้ำ ในช่วงเวลาตามกำหนด เพื่อกระตุ้นการกินอาหารของหมู โดยสามารถตั้ง ปริมาณน้ำในแต่ละช่วงเวลาได้ โดยชุดกล่องควบคุมคำสั่ง และระบบให้อาหารและน้ำที่ผสมในถาดอัตโนมัติ
ระบบพัดลมระบายอากาศอัตโนมัติ
ระบบพัดลมระบายอากาศอัตโนมัติ เป็นอีกระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง โดย ดร.อภิชาติ กล่าวว่า จะทำการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ 1 ตัวต่อคอกหมูขุน 50 ตัว เพื่อระบายอากาศ ลดอุณหภูมิและลดแก๊สภายในโรงเรือน โดยมีการทำงาน คือ เมื่อเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิในโรงเรือนสูงกว่าที่ตั้งไว้ บอร์ดในกล่องควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน จะสั่งให้รีเลย์ไปเปิดการทำงานของมอเตอร์พัดลม เพื่อให้พัดลม ทำระบายความร้อนและแก๊สที่เกิดขึ้นในโรงเรือนออกไป จนอุณหภูมมิต่ำลงหรือระบายแก๊สจนถึงระดับที่ต้องการ บอร์ดสั่งให้รีเลย์ไปปิดการทำงานของมอเตอร์พัดลม เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้นอากาศในโรงเรือน พร้อมบอร์ดที่ใช้ส่งข้อมูลผ่านไวไฟ เพื่อส่งข้อมูลไปที่โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์
ระบบตรวจจับคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อก่อนเข้า
ดร.อภิชาติ ได้กล่าวว่า ระบบตรวจจับคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อคนงานก่อนเข้าโรงเรือน ถือเป็นระบบไบโอเซฟตี้ที่จําเป็นมากในการป้องกัน ASF คนงานต้องทำการพ่นยาฆ่าเชื้อ อาบน้ำ และเปลี่ยนชุด ก่อนเข้าทำงานในโรงเรือน ซึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การเข้าโรงเรือนของคนงานจะต้องถูกจํากัดให้น้อยที่สุดและตรวจสอบได้ ระบบตรวจจับคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อคนงานก่อนเข้าโรงเรือน จึงถูกทำขึ้นมา ระบบนี้จะมีการเตือนทาง Line ให้ผู้จัดการทราบ เมื่อมีคนงานเข้าโรงเรือน พร้อมเก็บข้อมูลบน Cloud เพื่อตรวจสอบย้อนหลังได้ด้วย
พร้อมกันนี้ ดร. อภิชาติ ยังได้กล่าวถึงรูปแบบการทำความสะอาดระหว่างพักคอกและน้ำยาฆ่าเชื้อที่มาตรฐาน โดยในช่วงที่มีการระบาดของ ASF ได้มีการศึกษาหาสารสำคัญที่สามารถฆ่าเชื้อได้จากงานวิจัยต่างๆของต่างประเทศ จากนั้นได้นําน้ำยาฆ่าเชื้อที่ฟาร์มใช้ทำการทดสอบระบบต่างๆที่สร้างขึ้น ซึ่งน้ำยานี้ สามารถหาซื้อได้จากท้องตลาดทั่วไป เมื่อนําทดสอบหาสารสำคัญในห้องแลป พบว่า มีปริมาณน้อยกว่าที่จะฆ่าเชื้อ ASF ได้ ดังนั้น ทางฟาร์มจึงได้ใช้วิธีการทำความสะอาดระหว่างพักคอกใหม่โดยใช้โฟม ฉีดแทนการใช้มือขัดกับผงซักฟอก เพื่อการทำความสะอาดที่ดีกว่าและคนงานทำงานง่ายกว่า
ทั้งหมด เป็นเพียงบางส่วนของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ อีซี่ เทค ฟาร์ม ได้นำมาใช้ และประสบความสำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส. ซึ่งผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มได้ ด้วย ดร.อภิชาติบอกว่า เปิดกว้างสำหรับทุกคนที่สนใจ โดยติดต่อได้ที่โทร. 08-1266-7120