วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ อธิบดีกรมประมงร่วมกับ Shrimp board แถลงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยให้มั่นคงในตลาดโลก ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ในการเดินแผนสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน เพื่อดันผลผลิตกุ้งไทยให้ได้ปริมาณ 400,000 ตัน ภายในปี 2566
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 ท่าน ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องสร้างความมั่งคงด้านการตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้มีการดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา
พันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย 320,000 ตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้ การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ ๓๕ จังหวัด การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile clinic) และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม. ๒ การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิต
ด้าน นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการที่สมาชิกสมาคมฯ ต้องมีการนำเข้าสินค้ามาผลิตและแปรรูปส่งออกเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งของไทยโดยรวม ดังนี้ สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก โดยรวมคือ ผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยมีผลผลิตปีละประมาณ 500,000 – 600,000 ตัน โรงงานแปรรูปจะซื้อกุ้งคิดเป็นร้อยละ 85 ของผลผลิตกุ้งทั้งหมด เหลือบริโภคในประเทศร้อยละ 15 ปัจจุบันเกษตรกรผลิตได้ 270,000 ตัน โดยมีการห้ามนำเข้าตลอดมา โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ในช่วงเวลาเดียวกัน เกษตรกรในต่างประเทศมีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ผลิตกุ้งได้รวมกันประมาณ 2,700,000 ตัน คือ สิบเท่าของประเทศไทย ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาดโลกเปลี่ยนจาก “ราคามหาชัย” ไปเป็น ราคาเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่เลี้ยงได้โดยต้นทุนต่ำกว่าไทย ลูกค้าใช้ราคาอ้างอิงนี้ในการเจรจาสั่งซื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างราคากุ้งในประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน แม้มีลูกค้าที่สามารถจัดซื้อกุ้งวัตถุดิบมาส่งให้ไทยแปรรูปได้ในราคาต่ำกว่ากุ้งไทยก็จะติดขัดเรื่องการห้ามนำเข้า จึงย้ายไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ที่ขยายกิจกรรมแปรรูปโดยอาศัยวัตถุดิบกุ้งนำเข้าทั้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ขณะที่การเลี้ยงกุ้งในประเทศได้ผลผลิตสูงต่ำตามฤดูกาล แต่โรงงานจำเป็นต้องมีงานทำสม่ำเสมอไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับผลผลิตกุ้งจากบ่อเลี้ยงได้ การนำเข้าจะสามารถช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่มีงานทำต่อเนื่อง ลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถซื้อกุ้งในประเทศได้ในราคาที่เกษตรกรไม่ขาดทุน เมื่อไทยสามารถซื้อกุ้งในตลาดโลกได้ จะช่วยพยุงราคาอ้างอิงไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป ลดส่วนต่างระหว่างราคากุ้งในประเทศกับในตลาดโลก และส่งผลให้ซื้อกุ้งในประเทศได้มากขึ้นด้วย
สมาชิกสมาคมที่ยังเน้นการแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออก ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรและกรมประมงในการศึกษาระดับความพอดีของปริมาณกุ้งนำเข้าที่จะไม่กระทบกับผลผลิตในประเทศ โดยเน้นการนำวัตถุดิบมาใช้ในช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตต่ำ ตามฤดูกาล สมาชิกที่นำเข้ากุ้งมีพันธกรณีที่จะซื้อกุ้งในประเทศในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กุ้งที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่กรมประมงกำหนด ซึ่งผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบว่าจะไม่มีโอกาสแพร่เชื้อโรคสู่บ่อเลี้ยงอย่างแน่นอน โดยควบคุมตั้งแต่ต้นทาง คือ เอกวาดอร์ และอินเดีย ตรวจเชื้อเมื่อเข้าถึงประเทศไทย และควบคุมให้ผลิตเพื่อส่งออกทั้งหมด สมาชิกสมาคมฯ ทำตามมติของ Shrimp Board รับซื้อกุ้งในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กับตัวแทนเกษตรกร โดยมี กรมประมงเป็นองค์กรควบคุม รับซื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน และจะขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้ราคากุ้งในประเทศมีเสถียรภาพ สร้างความเข้มแข็งทั้งในภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมโดยรวมฟื้นฟูและอยู่รอดได้ต่อไป
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกรไทย ว่า ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ 250,000 ถึง 350,000 ตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 30,000 กว่าราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 600,000 กว่าไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566 บรรลุเป้าหมาย โดยหลักการที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ตามศักยภาพของตัวเองในแต่ละพื้นที่ ผ่านกลไกการสร้างปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในพื้นที่ โดยสรรหาผู้ที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในภาวะวิกฤตหรือในภาวะที่เกษตรกรรายอื่นเลี้ยงกุ้งไม่ได้ มาเป็นผู้อธิบายและถอดบทเรียนให้เกษตรกรในจังหวัดหรือในพื้นที่ได้นำไปเป็นต้นแบบการเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จ แนวทางนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกที่เหมาะสมในการนำไปปรับใช้กับความสามารถและศักยภาพของตัวเองได้
นอกจากนี้ กุ้งไทยที่ผลิตและส่งออกเป็นกุ้งไทยที่ สวย สด สะอาด ปราศจากสารตกค้าง และปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยที่กุ้งไทยแต่ละตัว แต่ละการผลิต ที่ออกมาจากบ่อเลี้ยงกุ้ง มีมาตรฐาน ผ่านการรับรองจากกรมประมงทุกฟาร์มทุกบ่อ ซึ่งกรมประมงมีนโยบายการสร้างภาพลักษณ์กุ้งไทยสู่ตลาดโลก
นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง ความร่วมมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปผ่านกลไก Shrimp Board ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board ในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ
ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและผู้แปรรูปสามารถประกอบอาชีพในห่วงโซ่ได้อย่างยั่งยืน การผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น และขณะเดียวกันทำอย่างไรเกษตรกรภายในประเทศต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้า Shrimp Board จึงตกลงร่วมกันให้มีการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อไม่ให้เกษตรกรภายในประเทศประสบปัญหาราคาตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และยังเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเลี้ยงกุ้งทะเลต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่แท้จริง เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงมั่นใจว่าภายใต้การทำงานของ Shrimp Board และทุกภาคส่วน จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย สามารถบรรลุเป้าหมายผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 4 แสนตัน ในปี 2566 และมั่นใจว่าการนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐเอกวาดอร์ ไม่กระทบผลผลิตและราคาในประเทศ รวมทั้งขอให้มั่นใจว่ากรมประมงมีมาตรการที่รัดกุมในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดน และท้ายที่สุด…กรมประมงจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งทะเลในตลาดโลกอีกครั้ง