กรมส่งเสริมการเกษตรโชว์ BCG Model พร้อมดันปี 66 ขับเคลื่อนด้วย BCG Model ทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดผลงาน BCG Model ภาคการเกษตร พร้อมดันเป้า ปี 66 ทุกพื้นที่ขับเคลื่อนด้วย BCG Model

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2570 ซึ่งจะใช้เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ ใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสมดุลและยั่งยืน มีการบูรณาการและการพัฒนา ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด คือ จังหวัดลำปาง ขอนแก่น ราชบุรี จันทบุรี และจังหวัดพัทลุง เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ โดยจะขับเคลื่อน BCG Model ด้วยกระบวนการส่งเสริมเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area – Based) มีการกำหนดขอบเขตในการดำเนินการอย่างชัดเจน ทั้งมิติพื้นที่  คน และสินค้า ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ บูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาคีระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร Young Smart Farmer  Smart Farmer ศพก. ศจช. ศดปช. ให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจนต่อเกษตรกรและชุมชน สร้างรายได้ กระจายผลประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งตัวอย่างกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรมานำเสนอเป็นกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรจากพื้นที่ภาคตะวันตก ประกอบด้วย

กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ 12 ตำบลเเพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ใช้การส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เน้นส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน และสร้างอัตลักษณ์เป็น GI มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มีการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือทิ้ง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ซึ่งมีจุดเด่น คือ การแปรรูปขั้นสูง และเชิงพาณิชย์ มีตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตลาดออนไลน์

นายภิญญา ศรีสาหร่าย และ นางสาวภีรดา ศรีสาหร่าย YSF จังหวัดราชบุรี  ที่พัฒนาการทำเกษตร สู่ Smart Organic Tourism Farm อย่างยั่งยืนด้วย BCG Model โดยทำอาชีพปลูกผักผลไม้ไร้สารเคมี นำความรู้ด้าน BCG
มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง มีจุดเด่นที่ทำการเกษตรบนพื้นฐานของข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดของฟาร์ม วิเคราะห์และวางแผนการปลูกผักแบบประณีตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ นำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ย เพื่อลดต้นทุน มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตร Young Smart Farmer
และถ่ายทอดความรู้เกษตรอินทรีย์บนพื้นฐาน BCG Model

วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ ปี 2549 เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตราคาตก นำผลผลิตกล้วยที่ปลอดภัย โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ของในชุมชนมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมีงานวิจัยและผลการทดสอบรองรับ ทำการตลาดเน้นช่องทางออนไลน์ และจุดเด่นของที่นี่คือ สร้างมูลค่าเพิ่มจากกล้วยทุกระยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีอัตลักษณ์ ได้คุณภาพมาตรฐาน ตามความต้องการของตลาด และมีการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วยอย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณของเสียในกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero waste)

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า  BCG ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการทำงานส่งเสริมการเกษตร
แต่เป็นการนำสิ่งที่ทำอยู่แล้ว มาร้อยเรียงกันใหม่ เรียกชื่อใหม่ จัดกระบวนการขับเคลื่อนใหม่ และมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และให้ใช้แนวคิดของ BCG Model ในการดำเนินงานทุกโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตรคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า
การดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับงานส่งเสริมการเกษตรให้สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ และส่งผลให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated