นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นกระบวนการที่เกษตรกรในชุมชนร่วมกันดำเนินการจัดการศัตรูพืช ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจศัตรูพืช รายงานสถานการณ์ศัตรูพืช ตัดสินใจเลือกใช้วิธีการจัดการศัตรูพืช เพื่อให้สามารถจัดการศัตรูพืชในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นพี่เลี้ยงที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว ผ่านกลไกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ ศจช. ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมครอบคลุมพื้นที่ 882 อำเภอใน 77 จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเดินหน้าพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านการจัดการศัตรูพืช ในโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง โดยใช้กลไก ศจช. เป็นตัวอย่างในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการศัตรูพืชผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ระหว่างประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงดำเนินกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) การอบรมวิทยากรกระบวนการ (Training of Trainer: TOT) เรื่องการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน 2) การศึกษาดูงานด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และ 3) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนดำเนินงานส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมโดยกลไกของ ศจช. และเสริมสร้างความรู้และทักษะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ในการขับเคลื่อนการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานระหว่างประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้สามารถนำหลักการดำเนินงานของ ศจช. ไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนการจัดการศัตรูพืชให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศต่อไป
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม 57 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา และราชอาณาจักรไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการศัตรูพืช ผู้จัดและวิทยากรของประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างวันที่ 9 – 27 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น