นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้ว ตำบลท่ามะเพื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีศักยภาพสามารถเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกกล้วยหอมทองคุณภาพเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต นำไปสู่การจัดการสินค้าเกษตรที่มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน สร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรได้อย่างมั่นคง
“โดยเกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และร่วมกันคำเนินการบริหารจัดการการผลิต มีการใช้กระบวนการแปลงใหญ่ในการส่งเสริมการผลิต 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการลดต้นทุนการผลิต มีการขยายหน่อพันธุ์ไว้ในรุ่นถัดไป ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ สามารถลดต้นทุนจากเดิม 35,500 บาทต่อไร่ เหลือเพียง 28,400 บาทต่อไร่ ด้านการเพิ่มผลผลิต มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองแซมในสวนยางพาราทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิม 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 4,800 กิโลกรัมต่อไร่”
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ด้านการเพิ่มคุณภาพผลผลิต มีการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิก เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้า ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP ทุกแปลง สามารถผลิตเกรด A ได้ร้อยละ 80 ด้านการตลาด มีการร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัยอำเภอบางแก้ว เพื่อรับซื้อผลผลิตไปจำหน่ายต่อโดยมีการประกันราคาแก่สมาชิก และมีตลาดซื้อขายล่วงหน้ากับห้างโมเดิร์นเทรด ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่มีตลาดแน่นอน มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตเพิ่ม และด้านการบริหารจัดการ มีคณะกรรมการกลุ่มที่เข้มแข็ง ส่งเสริมและขยายพื้นที่ปลูก ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี
นายอาคม ดิษฐ์สุวรรณ เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง อยู่ที่บ้านทวดทอง หมู่ 12 ตำบลโคกสัก กล่าวว่า เนื่องจากประสบปัญหายางพารามีราคาตกต่ำ จึงตัดสินใจโค่นต้นยาง แล้วปลูกกล้วยหอมทอง ในพื้นที่รวม 8 ไร่ 2 งาน รวมต้นกล้วยหอมทองที่ปลูก 5,500 ต้น โดยปลูกมาแล้ว 2 ปี โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสำนักงานเกษตรอำเภอบางแก้ว ส่งผลทำให้การปลูกกล้วยหอมทองประสบความสำเร็จ สามารถมีรายได้จากการปลูกใน 1 รอบ หรือ 9 เดือน สามารถสร้างรายได้รวม 500,000 บาท โดยผลผลิตกล้วยหอมจะนำส่งไปยังจุดรวบรวมของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย
“ในการปลูกกล้วยหอมจะเน้นการสร้างผลผลิตคุณภาพตามมาตรฐาน GAP เพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยการวางแผนการบริหารจัดการตามหลักการของกลุ่มแปลงใหญ่ ทั้งการใส่ปุ๋ย การห่อเครือกล้วย การคัดแยกผลผลิตตามเกรดต่าง ๆ ทำให้ได้กล้วยหอมคุณภาพ และสามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี” นายอาคม กล่าว
ด้าน นายสมชัย หนูนวล ประธานกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่อำเภอบางแก้ว เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และนาข้าว ซึ่งที่ผ่านมาราคาผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบกับพื้นที่อำเภอบางแก้ว ไม่เหมาะที่จะปลูกยางพารา และมี โครงการของการยางแห่งประเทศไทยสนับสนุนการโค่นยางไปปลูกพืชชนิดอื่นไร่ละ 10,000 บาท เกษตรกรจึงโค่นยางและปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยไม่มีความรู้เท่าที่ควร สำนักงานเกษตรอำเภอบางแก้วจึงได้เข้ามาให้ดำแนะนำจัดอบรมหลักสูตรการปลูกกล้วยหอมทองเพื่อส่งตลาคโมเดิร์นเทรดยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ความรู้แก่เกษตรกรตามหลัก GAP สนับสนุนองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาผลผลิต การจัดการฟาร์ม การจัดการหลังเก็บเกี่ยว และสนับสนุนให้สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทุกแปลง
“จากการเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้มีเกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยหอมทองเป็นจำนวนมาก จึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้วขึ้นในปี 2565 มีสมาชิกแรกเริ่ม จำนวน 30 ราย พื้นที่ 90 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จำนวน 35 ราย พื้นที่ 135 ไร่
“ผลการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทอง และมีผลตอบรับจากเกษตรกรในพื้นที่ทางกลุ่มจึงมีแนวคิด ส่งเสริมให้บางแก้วเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมทองที่มีคุณภาพเละ ได้มาตรฐาน GAP ทุกแปลง เพื่อป้อนตลาดโมเดิร์นเทรดและขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันพื้นที่ปลูกของสมาชิกแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้ว จำนวน 130 ไร่ เพิ่มเป็น 250 ไร่ และขยายในพื้นที่ปลูกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัยอำเภอบางแก้ว จาก 500ไร่ เพิ่มเป็น 1,000 ไร่” ประธานกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองอำเภอบางแก้ว กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมการดำเนินโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ของกรมส่งเสริมกาเกษตร มีแปลงที่ได้รับรองรวม 772 แปลง พื้นที่ 447,120 ไร่ เกษตรกร 26,979 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565) พร้อมสนับสนุนให้ทีมผู้จัดการแปลงและเกษตรกรสมาชิก ร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์ จัดทำแผนและเป้าหมายการพัฒนาของกลุ่ม พร้อมทั้งจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานแปลงใหญ่ และประเมินผลจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานของกลุ่มในประเด็นต่างๆ พร้อมดำเนินการมีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรจำนวน จำนวน 547 แปลง เน้นด้านการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาศักยภาพของเกษตรกรสู่ smart Famer และความเข้มแข็งของเกษตรกลุ่ม/องค์กรวิสาหกิจชุมชน และการเชื่อมโยงตลาด