สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับประชาชน บ้านปงไคร้ปล่อยฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่า เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
กิจกรรมการปล่อยฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่า ณ.บ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ของผู้บริหาร ประชาชนและสื่อมวลชน เป็นส่วนหนึ่งในผลิตผล ที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สพภ.หรือ เบโด้ ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลี้ยงฟ้ามุ่ยบ้านปงไคร้ จัดทำโครงการ ธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชนบ้านปงไคร้ ภายใต้โครงการธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์กล้วยไม้ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
กิจกรรมดังกล่าวนี้ เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่ตลอดกว่า 70 ปี พระองค์ทรงให้ความสำคัญ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคืนกล้วยไม้ป่าสู่ธรรมชาติ โครงการอนุรักษ์พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ ผ่าน โครงการตามพระราดำริ ทุกโครงการนั้นล้วนฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์เป็นฐานทรัพยากร ให้แก่พสกนิกรได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ฟ้ามุ่ย เอื้องฟ้ามุ้ย หรือ The Blue Vanda หนึ่งในกล้วยไม้ที่คนนิยมเลี้ยงมากที่สุด ด้วยสีสันและความสวยงามจึงถูกคุกคามนำออกจากป่าเป็นจำวนมาก ฟ้ามุ้ยในธรรมชาติ ลดน้อยลงมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ที่ผ่านมาฟ้ามุ้ยเคยถูกจัดให้เป็นกล้วยไม้ที่อยู่ในบัญชี 1 ไซเตส บัญชีควบคุมทางการค้าระหว่างประเทศอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมไม่ให้มีการนำต้นออกจากป่ามาจำหน่าย ปีพ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้เสนอให้ถอดชื่อกล้วยไม้ฟ้ามุ้ยออกจากไซเตสบัญชี 1 ไปอยู่บัญชี 2 เพื่อเปิดช่องทางให้มีการพัฒนาพันธุ์เพื่อการค้ามากขึ้น
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเสาวนีย์ ผ่านสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ ให้ “ช่วยสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ พืชอาหาร พืชสมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ ฯลฯ รวมถึงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยหายากแล้วปล่อยคืนสู่ป่าให้อยู่ในสภาพธรรมชาติตามเดิม”
ด้าน นายวันชัย อินยม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงฟ้ามุ่ย บ้านปงไคร้ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่เปิดเผยว่า สพภ. หรือ เบโด้ ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเลี้ยงฟ้ามุ่ย เกี่ยวกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์กล้วยไม้อย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ ให้ความรู้ในการสำรวจความหลากหลายกล้วยไม้ เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ และเทคนิคการนำกล้วยไม้ออกจากขวด รวมทั้งกระบวนการปล่อยกล้วยไม้คืนป่า ส่งผลให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจได้เป็นอย่างดี โดยได้จัดทำโครงการ ธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชนบ้านปงไคร้ ภายใต้โครงการธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพระดับชุมชนขึ้นในที่สุด
ที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบลโปร่งแยง และชาวบ้าน ร่วมกับ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ จัดกิจกรรมคืนถิ่นฟ้ามุ่ยบ้านปงไคร้ โดยนำเมล็ดกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยที่อยู่ในธรรมชาติ มาเพาะเลี้ยงขยายพันธ์ อาหารสังเคราะห์ ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์กรรมกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ซึ่งชุมชนบ้านปงไคร้ สามารถหยุดยั้งการนำพ่อแม่พันธุ์ฟ้ามุ่ยออกจากป่า และเห็นความสำคัญของกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ที่เป็นกล้วยไม้ไทยที่หายากแล้วยังถูกภัยคุกคาม อีกทั้ง อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ด้วย
ผลสำเร็จของธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชนบ้านปงไคร้ ภายใต้โครงการธนาคารความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นหนึ่งในกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และที่ทำให้เป็นชุมชนต้นแบบที่ สามารถหยุดยั้งการนำพ่อแม่พันธุ์กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยออกจากป่า และยังตระหนักถึงความสำคัญของฟ้ามุ่ยที่เป็นกล้วยไม้ไทยที่หายาก อีกทั้ง อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ด้วย
ปัจจุบันหมู่บ้านปงไคร้ หรือหมู่บ้านฟ้ามุ่ย มีกล้วยไม้ลงทะเบียนในธนาคารกล้วยไม้ระดับชุมชน ทั้งหมด 36 ชนิด จำนวน 200 ต้น ทั้ง กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย, นกคุ้มไฟ, เอื้องคำ และเอื้องมอนไข่ ขณะที่ชุมชนเก็บเมล็ดกล้วยไม้ชนิดต่างๆรวมทั้งกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ไปเพาะขยายพันธ์ เพิ่มจำนวนกล้วยไม้ให้มากขึ้น ซึ่งกล้วยไม้ที่ได้นอกจากจำหน่ายแล้ว ชุมชนจะนำไปจัดโปรแกรมปล่อยฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่าสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจอีกด้วย หมู่บ้านปงไคร้ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยม กับโปรแกรมปล่อยฟ้ามุ่ยคืนสู่ป่าและชมกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยในธรรมชาติแห่งเดียวของประเทศไทย แหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานรัฐและ เอกชนและประชาชน ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ท่องเที่ยวชีวภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยหล่อเลี้ยงการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ฟ้ามุ่ยปล่อยคืนสู่ป่าของชุมชนได้เป็นอย่างดี