คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ ดร. จุฑามาศ กองผาพา และ ดร. สุคนธ์ทิพย์ เวียนมานะ อาจารย์สังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมกับ นางสาวณัชชา กุลภา ประธานวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ ประเทศสิงคโปร์ได้ร่วมกันค้นพบ ศึกษา และบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โดยตั้งชื่อพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลกว่า “บุศรินทร์” (Curcuma stahlianthoides Škorničk. & Soonthornk.) อันมีความหมายว่า “ดอกบัวของพระอินทร์” และร่วมกันตีพิมพ์บทความลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Blumea – Biodiversity, Evolution and Biogeography of Plants เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสาวณัชชา กุลภา Dr. Jana Leong-Škorničková
ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะผู้วิจัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้รับการประสานงานจากนางสาวณัชชา กุลภา ประธานวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ว่าได้พบพืชลักษณะคล้ายว่านเพชรน้อยในพื้นที่เกษตรกรรมแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ลงพื้นที่สำรวจ เก็บตัวอย่างและข้อมูลขนาดประชากรเบื้องต้น พร้อมถ่ายภาพสภาพถิ่นที่อาศัย แล้วจึงนำตัวอย่างและข้อมูลกลับมาที่คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เพื่อตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียวในพิพิธภัณฑ์พืชต่างๆ และบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต่อมา ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ซึ่งร่วมงานกับ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ประเทศสิงคโปร์ ในการศึกษาพืชสกุลกระเจียวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 ได้ส่งข้อมูลให้ Dr. Jana ตรวจสอบ พบว่าพืชชนิดนี้เป็นพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลก และได้จัดทำต้นฉบับบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Blumea – Biodiversity, Evolution and Biogeography of Plants ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา
พืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลกตั้งชื่อว่า “บุศรินทร์” (Curcuma stahlianthoides Škorničk. & Soonthornk.) อันมีความหมายว่า “ดอกบัวของพระอินทร์” พบในพื้นที่เกษตรกรรมแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ประเทศไทย เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 50 ซ.ม. มีลำต้นใต้ดินรูปไข่ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีขาวครีม ใบรูปรีแคบคล้ายใบหญ้า แผ่นใบและก้านใบมีสีเขียว ช่อดอกออกที่ด้านข้างของลำต้นมักเกิดก่อนใบ ในต้นที่เจริญอยู่ในพื้นที่ได้รับแสงอาทิตย์มากก้านช่อดอกสั้นและฝังอยู่ในดิน แต่ในต้นที่เจริญในที่ร่มก้านช่อดอกจะยาวโผล่พื้นดิน ช่อดอกมีใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบประดับโค้งลง จำนวน 3-11 กลีบ มีสีเขียว กลีบดอกมีสีขาวเกือบทุกกลีบ กลีบปากรูปไข่กลับ มีแถบสีเหลืองสดที่กึ่งกลางของกลีบปากส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายมะลิ
ลักษณะที่โดดเด่นของบุศรินทร์ที่บ่งบอกว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก คือการมีลักษณะร่วมกันระหว่างพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) และสกุลว่านเพชรน้อย (Stahlainthus) โดยมีดอกที่คล้ายกับพืชสกุลว่านเพชรน้อยแต่ลักษณะของช่อดอกมีใบประดับหลายใบ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปในพืชสกุลกระเจียว (พืชสกุลว่านเพชรน้อยจะมีใบประดับเพียง 2 ใบเท่านั้น) และยังพบว่ามดช่วยในการกระจายเมล็ดของบุศรินทร์ ซึ่งมดจะถูกล่อด้วยสารเคมีในเยื่อหุ้มเมล็ดของบุศรินทร์ ลักษณะเช่นนี้ยังพบได้ในพืชวงศ์ขิง-ข่าหลายสกุล
สำหรับการตั้งชื่อนั้น บุศรินทร์ เป็นชื่อสามัญได้มาจากลักษณะของใบประดับที่มีใบสีเขียวเรียงซ้อนกันตั้งแต่ 3-11 กลีบ ลักษณะคล้ายกับดอกบัวจึงตั้งชื่อว่า บุศรินทร์ อันมีความหมายว่า ดอกบัวของพระอินทร์ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์นั้น บุศรินทร์จัดอยู่ในสกุลเดียวกับกระเจียว หรือ Curcuma โดยลักษณะดอกของบุศรินทร์มีความคล้ายคลึงกับพืชในสกุลว่านเพชรน้อย หรือStahlianthus ซึ่งจากการศึกษาทางชีวโมเลกุลก่อนหน้าของ Záveská และคณะในปีพ.ศ. 2555 พบว่าพืชในสกุลว่านเพชรน้อยมีความใกล้ชิดกับพืชในสกุลกระเจียวมากจนสกุลว่านเพชรน้อยถูกรวมเข้ามาอยู่ในสกุลกระเจียว ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความเห็นตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma stahlianthoides ซึ่งสื่อถึงลักษณะของบุศรินทร์ที่มีลักษณะคล้ายกับว่านเพชรน้อย
ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบุศรินทร์พบเพียงที่จังหวัดนครพนมเท่านั้น แต่มีรายงานอย่างไม่ทางการว่าอาจจะพบในสปป.ลาวด้วย สำหรับการต่อยอดจากการค้นพบพืชชนิดใหม่ โดยทั่วไปพืชในวงศ์ขิง-ข่า จะมีการสร้างน้ำมันหอมระเหยในทุกส่วนของต้น แต่อย่างไรก็ดียังไม่มีการศึกษาทางพฤกษเคมีในบุศรินทร์ ซึ่งหากมีการศึกษาในด้านนี้อาจจะพบสารที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรได้ในอนาคต และจากการลงพื้นที่สำรวจ ประชากรของบุศรินทร์ขึ้นอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่ได้อยู่พื้นที่อนุรักษ์ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายจากการทำการเกษตรได้ ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดเพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยในอนาคตต่อไป
เอกสารอ้างอิง
https://www.ingentaconnect.com/content/nhn/blumea/pre-prints/content-nbc-blumea-0630