TED Fund โชว์ผลงานเด็ด “หนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีกขาดสำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากยางพารา”เปลี่ยนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สร้างโอกาสธุรกิจให้คนรุ่นใหม่ เพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา เผยให้ผิวสัมผัสที่ใกล้เคียงผิวมนุษย์ เทียบเท่าผิวซิลิโคนนำเข้า ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมแก้ปัญหาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ลดนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง 

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม(TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จตามภารกิจการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund ) ที่ สวนยางพารา ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภายใต้โครงการ“หนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีกขาดสำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากยางพารา” ซึ่ง TED Fund ให้ทุนสนับสนุน บริษัท เทพาพาราเทค จำกัด ภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ไปพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของยางพารา ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ในการดูแลรักษาและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าอีกด้วย

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า โครงการ “หนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีกขาดสำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากยางพารา” เป็นการแก้ปัญหาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ ทันตกรรม พยาบาลและสาธารณสุข ที่จะต้องมีการฝึกเย็บแผลฉีดขาดให้เกิดความเชี่ยวชาญ และชำนาญก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาหรือได้รับใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนักศึกษาที่เรียนทางด้านนี้จะต้องใช้วัสดุหนังเทียมสำหรับใช้ฝึกเย็บแผลฉีกขาดอย่างน้อยคนละ 2 ชิ้น เป็นวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูงและผลิตจากยางสังเคราะห์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ จึงทำให้ต้นทุนในการฝึกหัดเย็บแผลฉีดขาดของนักศึกษาสูงและเป็นภาระแก่ผู้เรียนพอสมควร นอกจากนี้ วัสดุประเภทนี้เป็นวัสดุสิ้นเปลืองใช้งานเสร็จแล้วไม่สามารถใช้งานซ้ำหลายๆครั้งได้ จึงทำให้เกิดเป็นขยะในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถย่อยสลายได้และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ส่วนวัสดุหนังเทียมที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติเดิมยังมีรูพรุนเนื้อในจึงทำให้เนื้อวัสดุไม่แน่น เกิดการยุบตัวระหว่างฝึกเย็บแผลและมีความแตกต่างจากหนังมนุษย์จริงค่อนข้างมาก ทำให้ไม่เป็นที่นิยมนัก

“โครงการ “หนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีกขาดสำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากยางพารา” ถือเป็นการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้นำผลงานวิจัย สู่เชิงพาณิชย์ ถือเป็นการตอบโจทย์ตามเป้าหมายการดำเนินงานของ TED Fund ด้วยสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว ผ่านกระบวนการผลิตที่คิดค้นขึ้น และใช้น้ำยางธรรมชาติที่ไม่มีโพรงเซลล์เปิดด้านในเนื้อฟองน้ำ อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้แมคโครพอลิเมอร์ หรือแป้งจากพืชในการแทรกซึมในทุกๆ โพรงที่เกิดขึ้นในเนื้อฟองน้ำ จึงทำให้ได้ฟองน้ำที่สามารถใช้เป็นวัสดุหนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีดขาดที่มีเนื้อแน่น มีความชุ่มชื่นและให้ผิวสัมผัสที่ใกล้เคียงผิวมนุษย์ เทียบเท่าผิวซิลิโคนนำเข้า” ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า หนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีกขาดสำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากยางพารา มีราคาถูก ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าวัสดุที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมากถึง 4 – 5 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้าน นายอนุวัตร วอลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพาพาราเทค จำกัด กล่าวว่า การที่ TED Fund เข้ามาสนับสนุนทุนมูลค่า 1.5 ล้านบาท ภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) พร้อมทั้งจัดให้มีหน่วยงานพี่เลี้ยง หรือ TED Fellow คอยช่วยเหลือตลอดโครงการ ช่วยทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาไอเดียทางด้านนวัตกรรมของตนเอง ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สัมผัส และใช้งานได้จริง อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์การใช้งานจริงได้มากขึ้น รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้สามารถใช้งานได้ในวงกว้างและหลากหลายมากขึ้นต่อไปได้อีกในอนาคต

“สำหรับผลิตภัณฑ์หนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลฉีกขาดจากยางพาราที่พัฒนาขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของก้าวแรกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ด้วยมีแผนที่จะพัฒนาและต่อยอดเป็นวัสดุประเภทอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ต่อยอดและพัฒนาเป็นหนังเทียมฝึกหัดเย็บแผลเหงือกในช่องปาก วัสดุฝึกหัดฉีดยา และอวัยวะเทียมต่างๆ ที่ใช้สำหรับฝึกปฏิบัติของนักศึกษาและบุคลากรทางด้านสาธารณะสุข”นายอนุวัตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated