กรมวิชาการเกษตร โชว์นวัตกรรมฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอน ตัวช่วยยืดอายุผักและผลไม้คงความสดใหม่ เพิ่มโอกาสวางจำหน่ายได้นานขึ้น
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรมีนวัตกรรมในการยืดอายุผลิตผลสด โดยใช้ฟิล์มถนอมอาหารเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผักและผลไม้ โดยกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ได้ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการผลิตฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนโดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผักและผลไม้ให้นานขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าของเกษตรกรและผู้ประกอบการทำให้สามารถเก็บรักษาผลผลิตวางจำหน่ายได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะเป็นการลดการสูญเสียน้ำหนัก ปกป้องผลิตผลจากการปนเปื้อน และเพิ่มความสะดวกในการจัดจำหน่ายแล้ว ยังช่วยคงคุณภาพของผักและผลไม้ได้นานขึ้นด้วย 

เทคโนโลยีการผลิตฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนโดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์ เป็นนวัตกรรมที่ใช้เครื่องเลเซอร์มาร์กเกอร์มาเจาะรูฟิล์มขนาดไมครอน ซึ่งฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนมีคุณสมบัติยอมให้ก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ซึมผ่านได้สูงกว่าฟิล์มแบบปกติทั่วไป เมื่อนำมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับผักและผลไม้จะช่วยควบคุมอัตราการหายใจของผักและผลไม้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้สามารถรักษาความชื้น ช่วยคงความสด และยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลได้นานขึ้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ฟิล์มที่นิยมนำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้โดยทั่วไป ได้แก่ พอลิโพรพิลีน (PP) และพอลิเอทิลีน (PE) มีอัตราการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจน (OTR) ต่ำ งานวิจัยนี้คณะนักวิจัยจึงได้เลือกใช้ฟิล์ม OPP ซึ่งเป็น PP ที่มีการจัดเรียงตัว และฟิล์ม LDPE ซึ่งเป็น PE ความหนาแน่นต่ำ มาเจาะรูขนาดไมครอนโดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์ แล้วนำฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนที่ได้มาทดสอบกับผักและผลไม้ที่มีอัตราการหายใจแตกต่างกัน เช่น บัตเตอร์เฮด ถั่วฝักยาว ผักชี ข้าวโพดฝักอ่อน มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน และกล้วยไข่ ซึ่งอัตราการหายใจของผลิตผลจะมีผลต่อสัดส่วนของก๊าซภายในบรรจุภัณฑ์ โดยเก็บรักษาผักที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และผลไม้ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส

ผลการทดลองได้พารามิเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการเจาะรูฟิล์มที่มีความหนา 30 ไมครอน คือ ฟิล์ม OPP ใช้ความเร็วสแกน 1,000 มิลลิเมตร/วินาที กำลังเลเซอร์ 20 เปอร์เซ็นต์ สามารถเจาะรูได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 115 ไมครอน เมื่อนำถุงฟิล์ม OPP เจาะรูขนาดไมครอนที่มี OTR 5,000-10,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน มาบรรจุผักชีน้ำหนัก 50 หรือ 80 กรัม ต่อถุงขนาด 16×35 เซนติเมตร สามารถเก็บรักษาได้นาน 18 วัน ซึ่งนานกว่าการใช้ถุงเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตรที่ใช้กันทั่วไป 3 วัน หรือบรรจุข้าวโพดฝักอ่อนน้ำหนัก 100 กรัม โดยบรรจุในถาดพลาสติกก่อนแล้วหุ้มด้วยถุงฟิล์ม OPP เจาะรูขนาดไมครอน เก็บได้นาน 20 วัน ซึ่งนานกว่าการบรรจุถาดพลาสติกแล้วหุ้มด้วยฟิล์ม PVC 5 วัน และบรรจุกล้วยไข่จำนวน 6 ผล ต่อถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บได้นาน 14 วัน โดยที่ผลยังไม่สุก ส่วนถุงฟิล์ม OPP เจาะรูขนาดไมครอนที่มี OTR 15,000-20,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน นำมาบรรจุถั่วฝักยาวน้ำหนัก 150 กรัม ต่อถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บรักษาได้นาน 15 วัน และบรรจุมะม่วงน้ำดอกไม้เก็บได้นาน 25 วัน นานกว่าการบรรจุกล่องกระดาษลูกฟูก15 วัน แล้วเมื่อนำออกมาวางที่อุณหภูมิห้อง 4 วัน ผลมะม่วงจะสุกโดยไม่พบกลิ่นผิดปกติที่เนื้อผล

สำหรับฟิล์ม LDPE พารามิเตอร์ที่เหมาะสมสำหรับการเจาะรูคือ ใช้ความเร็วสแกน 500 มิลลิเมตร/วินาที กำลังเลเซอร์ 30 เปอร์เซ็นต์ สามารถเจาะรูได้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70 ไมครอน โดยฟิล์ม LDPE เจาะรูขนาดไมครอนที่มี OTR 5,000-10,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน นำมาบรรจุบัตเตอร์เฮดเก็บรักษาได้นาน 21 วัน ซึ่งนานกว่าถุงเจาะรูขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร 6 วัน หรือบรรจุข้าวโพดฝักอ่อนน้ำหนัก 100 กรัม โดยบรรจุในถาดพลาสติกก่อนหุ้มด้วยถุงฟิล์ม LDPE เจาะรูขนาดไมครอน เก็บได้นาน 20 วัน หรือบรรจุเงาะโรงเรียน 6 ผล/ถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บรักษาได้นาน 14 วัน โดยคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับ และบรรจุกล้วยไข่จำนวน 6 ผล/ถุงขนาด 20×28 เซนติเมตร เก็บได้นาน 35 วัน โดยที่ผลยังไม่สุก ส่วนถุงฟิล์ม LDPE เจาะรูขนาดไมครอนที่มี OTR 15,000-20,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน นำมาบรรจุถั่วฝักยาวน้ำหนัก 150 กรัม ขนาดถุง 20×28 เซนติเมตร เก็บรักษาได้นาน 15 วัน และบรรจุมะม่วงน้ำดอกไม้ เก็บรักษาได้นาน 25 วัน โดยไม่พบกลิ่นผิดปกติเมื่อผลสุก

“การใช้เทคโนโลยีการเก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลง เพื่อยืดอายุผลิตผลสดนั้น หากใช้ฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตผลแต่ละชนิดจะสามารถคงคุณภาพที่ดีของผลิตผล และยืดอายุการเก็บรักษาผลิตผลสดได้นานที่สุด ช่วยลดการสูญเสียผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ตลอดจนผู้ประกอบการค้าปลีกผักและผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟิล์มเจาะรูขนาดไมครอนโดยใช้เลเซอร์มาร์กเกอร์ ให้แก่บริษัทผู้ผลิตฟิล์มยืดอายุผักและผลไม้และผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์และขยายผลต่อไป  ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร โทร. 0-2579-5582” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated