ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาชื่อของปุ๋ยอินทรีย์โดนปุ๋ยเคมีกลบจนเกือบจะหายไปจากหน้าสื่อและเมื่อลงพื้นที่ไปถามเกษตรกรก็ล้วนแต่นิยมปุ๋ยเคมี จนเมื่อปุ๋ยเคมีแพงชื่อของปุ๋ยอินทรีย์ก็หวนกลับมาอีกครั้ง แม้ไม่แรงเท่าแต่ก็พอทำให้คึกคักเล็กๆและขณะเดียวกันเกษตรกรผู้ใช้ก็เริ่มตระหนักในการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้องมากขึ้น
นายสมาน รักษาพราหมณ์ หรือที่หลายคนเรียกว่า “อาจารย์สมาน” ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตราสนฉัตร ตราซีสตาร์ ตราสมอบก และอีกหลายตราที่ผลิตตามสั่ง กล่าวว่าตนเองเริ่มเข้าสู่วงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 47-48 เพราะมองเห็นว่าการทำนาที่บางเลน(ที่ใกล้ๆโรงงานผลิตปุ๋ย)ใช้ปุ๋ยเคมีมานานทำให้ดินแข็ง ค่าออแกนิคแมทเตอร์ (Organic matter) สารอินทรีย์ในดินนับวันจะน้อยลง แต่ถ้าเราใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมเหมือนเป็นการเติมชีวิตให้กับดิน
“อย่าใช้อย่างใดอย่างหนึ่งล้วนๆ แต่ใช้อินทรีย์อย่างเดียวผลผลิตเราก็ลดลงแต่ถ้าใช้เคมีร่วมด้วยก็จะทำให้ผลผลิตดีขึ้น ต้องสร้างออแกนิคแมทเตอร์ให้กับดินจะทำให้ค่า pH ในดินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มาอยู่ใหม่ๆ(บางเลน)นาแถวนี้มีค่า ค่า pH 2 กว่าๆ ต่ำมาก ผมจะทำยังไงให้ pH อยู่ที่ 5.5 ถึง 6.5 แรกๆก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หว่านลงไป พอหว่านเสร็จแล้วก็ไถกลบทำแบบนี้อยู่ 3 ปีแล้วก็มาวัดค่า pH ได้ 5.5 ตอนนี้ 6.5 แล้ว ถ้า 6.5 เราใส่ปุ๋ยเคมีนิดเดียวก็ได้กินแล้ว” อาจารย์สมาน กล่าว
เมื่อต้นปีมานี้อาจารย์สมานได้ให้สัมภาษณ์LIVEสด “ลุงพร เกษตรก้าวไกล” ผ่านทางเพจเกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน และนำเรื่องราวไปลงต่อใน YouTube ช่องเกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของเกษตรกรจำนวนมาก เกษตรกรหลายคนถามว่าปุ๋ยอินทรีย์อาจารย์สมานหาซื้อได้ที่ไหน จังหวัดนั้นจังหวัดนี้มีตัวแทนจำหน่ายหรือไม่ ฯลฯ
เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์สมานให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ปกติหลายปีก่อนหน้านี้จะผลิตส่งให้เกษตรกรผู้ใช้ในประเทศเวียดนาม และอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะที่เวียดนามเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับพืชเศรษฐกิจจำพวกไม้ผลหลายตัว อย่างเช่นแก้วมังกรที่เป็นผลไม้ส่งออกขึ้นชื่อของเวียดนาม และที่มาแรงคือนำปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้กับการปลูกทุเรียน เพราะว่าส่วนผสมในปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารรองครบถ้วน อย่างของตนเองนั้นมีปลากระป๋องที่หมดอายุจากโรงงานสูงถึง 30 % และนำมาหมักกับจุลินทรีย์ทรีย์อย่างน้อย 8-12 เดือน หรือ 1 ปี โดยจุลินทรีย์บางตัวมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งต้านทานไฟทอปธอร่าหรือโรครากเน่าโคนเน่าที่มักเกิดกับทุเรียน
“ปกติผมก็จะผลิตส่งให้กับเวียดนาม กับผู้ใช้หลักที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ของผมมาเป็นเวลานับสิบปี และเขาก็นำไปกระจายในกลุ่มของเขา รวมทั้งมีตัวแทนจำหน่ายที่เป็นร้านค้าที่คบหากับมานาน ซึ่งมีเพียงไม่กี่ร้าน แต่เมื่อเจอโควิด 2-3 ปีมานี้ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ ผมก็เลยเพลาๆลงหันมามองตลาดผู้ใช้ในประเทศมากขึ้น โดยจำหน่ายและจัดส่งจากโรงงานโดยตรง ด้วยวิธีการสั่งซื้อออนไลน์ “ปุ๋ยเอ็กเพรส” ผ่านทางบริษัทซุปเปอร์เอสเอ็กเพรส และในอนาคตเมื่อกำลังการผลิตเข้าที่แล้วก็ได้วางแผนที่จะขยายตัวแทนจำหน่ายต่อไป” อาจารย์สมานตอบคำถามเมื่อถามว่าจะสั่งซื้อปุ๋ยได้ที่ไหน
ในตอนท้ายอาจารย์สมานได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน ควรนำดินไปตรวจว่าขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง จะต้องนำตอซังมาย่อยสลายทำเป็นปุ๋ย และในช่วงที่ผ่านมามีชาวนาในจังหวัดนครปฐมหลายกลุ่มที่มาสั่งตัดปุ๋ยจากตนเอง ซึ่งจังหวัดนครปฐมมีการรณรงค์ไมเผาในพื้นที่เกษตร โดยส่วนใหญ่ปุ๋ยที่สั่งตัดจะมีส่วนผสมระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราส่วนที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า 2-3 เท่าตัว
“ต้องผสมผสานปุ๋ยอินทรีย์ด้วยข้าวก็จะดี อยากให้เกษตรกรที่ทำนาใช้ผสมผสานกันจะเป็นการลดต้นทุน ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติทำไมทำนาขาดทุนทุกปี เพราะว่าใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องไม่ได้มีการปรับปรุงดิน ไม่ได้วิเคราะห์ค่าดิน และต้นทุนหลักอยู่ที่ปุ๋ยเคมี ซึ่งตอนนี้ลูกละ 1,400 – 1,500 บาท ถ้าราคาข้าวตันละ 6,000-7,000 บาท ชาวนาจะขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ได้ทำเลย” อาจารย์สมาน กล่าวในที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ superS Express ส่งปุ๋ยถึงบ้านทั่วประเทศ โทร.063-279-9000 หรือ 086-318-5789 กรณีจะเป็นตัวแทนจำหน่ายก็สอบถามได้เช่นกัน