กรมส่งเสริมการเกษตรจัดสัมมนา Year End Conference ประจำปี 2565 ยังคงยึด 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ และนโยบายสำคัญ 15 เรื่อง เน้นหลักตลาดนำการผลิต มุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา Year End Conference ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 กันยายน 2565 และมอบนโยบายการดำเนินงานแก่ผู้บริหารและบุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมี นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญ เกษตรจังหวัด หัวหน้ากลุ่มระดับจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มระดับเขต ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ผู้อำนวยการกลุ่มส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวงให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกร การวางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพัฒนาอาชีพ ช่วยเหลือดูแล และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงยึด 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ และนโยบายสำคัญ 15 เรื่อง ที่เน้นหลักตลาดนำการผลิต มุ่งมั่นในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย มีความใกล้ชิดและเข้าถึงเกษตรกรทั่วทั้งประเทศ
สำหรับการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเพื่อยกระดับเกษตรกรไทย ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การขับเคลื่อน BCG Model ในพื้นที่นำร่อง การพัฒนา Big Data ภาคการเกษตร และเทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนา Smart Farmer, Young Smart Farmer การยกระดับศักยภาพแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่ การแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” ผลักดันการสร้างเกษตรมูลค่าสูงและเกษตรปลอดภัย และการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร เป็นต้น
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
“การปฏิรูปภาคการเกษตร เกษตรกรถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำให้ภาคการเกษตรเกิดการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระทรวงเกษตรฯ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคนในภาคการเกษตร ทั้งการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย Young Smart Farmer การเพิ่มบทบาทของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานที่สำคัญในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานถือเป็นบุคคลที่จะต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรโดยตรง และทำหน้าที่ในการแปลงนโยบายต่าง ๆ และสื่อสารหรือจัดทำโครงการ/มาตรการไปให้ถึงเกษตรกรในพื้นที่ จึงอยากให้ผู้บริหารให้ความสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนการทำงาน และต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาภาคการเกษตรและสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรต่อไปได้ และหวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในปี 2565 ที่ผ่านมาร่วมกัน และนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้มากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร ต่อไปในอนาคต” ดร.เฉลิมชัย กล่าว