ผ่านวิกฤตโควิดมาได้ไม่นานก็มาเจอวิกฤตน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ปัญหาภัยธรรมชาติและสภาวะโลกร้อนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เกษตรกรต้องประสบพบเจอ อย่างที่อุบลราชธานีน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ โดยเป็นเวลาเดียวกับที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายใต้การนำของ นายศรัทธา อินทรพรหม และ นายสุภาษิต ศุภวุฒิ 2 ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้นำทัพสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปพบกับกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะที่กลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม ตำบลบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ถือได้ว่าเป็นโมเดลหนึ่งของการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น…
“ช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้วางมาตรการและลงพื้นที่ดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร ทั้งด้านการฟื้นฟูลูกค้า เติมความรู้สร้างอาชีพ เพิ่มศักยภาพการชำระหนี้ลูกค้า เติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้โครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ “แก้หนี้ แก้จน” ตามแนวทาง D&MBA : Design & Manage by Area เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชน” นายศรัทธา อินทรพรหม ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว (รายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/3rBChtm)
และในการลงพื้นที่วันนี้(4 ต.ค. 65) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน ในรูปแบบของสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวน 2,000,000 บาท จากจำนวนที่จะให้การสนับสนุนทั้งหมด จำนวน 4,000,000 บาท
นายศรัทธา อินทรพรหม ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม
ทางด้าน นายสำราญ โพธิพันธ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม และในฐานะประธานกลุ่มเลี้ยงสัตว์อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ทางกลุ่มของตนทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ และต่อมารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนมีสมาชิก 200 คน เพื่อทำนาและผลิตข้าวหอมมะลิขาย แต่ในช่วงโควิด-19 ประสบปัญหาด้านการตลาด ทั้งการขนส่งและผู้รับซื้อ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรต่ำลงส่งผลกระทบไปยังรายได้ที่ลดลง ทำให้สมาชิกต้องหันมาเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริม
นายสำราญ โพธิพันธ์ บรรยายเรื่องการเลี้ยงโคขุนเป็นอาชีพเสริม
“ก่อนมาเลี้ยงโคขุนทำนามีหนี้เยอะ ราคาข้าวก็ไม่ถึงหมื่นต่อเกวียน แต่ราคาปุ๋ยที่เป็นต้นทุนหลักกลับสูงสวนทางกัน และเราก็ไม่สามารถกำหนดราคาข้าวได้ ผิดกับเลี้ยงโคขุนเราส่งรูปไปทางไลน์เพื่อให้ผู้ซื้อดูรูปร่างโค เพื่อตกลงราคากัน พวกเราก็เลยแบ่งพื้นที่นาส่วนหนึ่งมาปลูกหญ้ามาเลี้ยงโคขุน และได้ขายไป 3 รอบแล้ว ทำให้มองเห็นโอกาสว่าตลาดโคขุนยังไปได้ ตลาดหลักจะอยู่ที่จีนและเวียดนาม”
“ก่อนที่จะมาเลี้ยงโคขุนเราก็มาคิดว่าจะเลี้ยงโคเพื่อเอาวัวหรือเลี้ยงโคเพื่อเอาเงิน ถ้าเอาลูกวัวก็นานเป็นปีกว่าจะได้ลูกสักตัวหนึ่ง แต่เลี้ยงโคขุนใช้เวลาเพียง 4 เดือนก็ขายได้เงินแล้ว”
นายสำราญ กล่าวอีกว่าก่อนเลี้ยงโคขุน ทาง ธ.ก.ส.ได้พาไปศึกษาดูงานที่จังหวัดสุพรรณบุรี สุรินทร์ และศรีษะเกษ โดยมีการทำ MOU ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บุณฑริกสัตวแพทย์และกฤษฎาฟาร์ม จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่ง ธ.ก.ส. ให้การสนับสนุน ทั้งการเติมองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิต โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น เกษตรอำเภอและปศุสัตว์อำเภอ การทำบัญชีที่ถูกต้อง สามารถตรวจสอบได้
ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนย้ำว่าเลี้ยงโคขุนกำไรดีกว่าทำนามาก
“กลุ่มของผมเลี้ยงโคขุนมาได้ยังไม่ถึงปี แต่จากที่ขายโคขุนไป 3 รอบแล้ว รอบละ 20 ตัว ทำให้เห็นได้ชัดว่าพวกเราสามารถดำเนินการได้ดี คือกำไรอยู่ในระดับที่ดี ยกตัวอย่างขายวัว 5 ตัว ได้ 4 หมื่นบาท ใช้เวลาขุนเพียง 4 เดือน ซึ่งเมื่อหักต้นทุนค่าหัวอาหารที่เป็นต้นทุนหลัก ยังมีกำไรตัวละ 4,000-6,000 บาท ในขณะที่ทำนาต้องใช้เวลา 1 ปี จึงจะขายข้าวได้ครั้งหนึ่ง เปรียบเทียบรายได้มันต่างกันมาก”
ในตอนท้าย นายสำราญ กล่าวว่า ทางกลุ่มมีเงินทุนหมุนเวียน 10,000,000 บาท แต่ยังไม่พอเพียงกับสมาชิก อยากให้สมาชิกเข้าถึงอาชีพการเลี้ยงโคขุน เพราะทางกลุ่มได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเลี้ยงโคไม่ยาก แต่ใช่ว่าทุกคนจะเลี้ยงได้ ถ้าไม่ศึกษาหาความรู้และเอาใจใส่อย่างเพียงพอ หากเป็นไปได้อยากให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนเงินทุนอีก 10,000,000 บาท โดยจะส่งเสริมเงินทุนให้สมาชิกที่สนใจเลี้ยงคนละ 500,000 บาท ซึ่งจะซื้อโคขุนมาเลี้ยงได้คนละ จำนวน 10 ตัว เงินทุนที่เหลือเอามาหมุนเวียนเป็นค่าหัวอาหาร และอื่นๆ ตนมั่นใจว่าภายในเวลา 2 ปี จะสามารถปลดหนี้ทำนาได้อย่างแน่นอน
ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก..ธ.ก.ส.พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มเกษตรกรเดินหน้าต่อไป
สำหรับเทคนิคการเลี้ยงโคขุนให้ได้กำไรงาม ซึ่งจะเป็นสายพันธุ์ชาโรเลส์เป็นหลัก รวมทั้งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ คลิกชมเพิ่มเติมได้จากเกษตรก้าวไกลLIVE ตามลิงก์นี้ https://fb.watch/fZamhCgWuV/ และหากจะติดต่อกับประธานกลุ่มก็จะมีเบอร์โทร.อยู่ในคลิปนี้ (โทร.0878706477) ยินดีต้อนรับเพื่อนเกษตรกรมาศึกษาดูงานได้