ข่าวขายทุเรียนไทยด้อยคุณภาพในจีน “เฉลิมชัย” สั่งทูตเกษตรตรวจสอบพบว่าไม่จริง!!
ข่าวขายทุเรียนไทยด้อยคุณภาพในจีน “เฉลิมชัย” สั่งทูตเกษตรตรวจสอบพบว่าไม่จริง!!

กรณีมีข่าวพ่อค้าจีนขายทุเรียนไทยด้อยคุณภาพในเซี่ยงไฮ้ “อลงกรณ์” แจงรายงานล่าสุด ยืนยันไม่ใช่ทุเรียนไทย แต่อย่าประมาทอาจพลาดได้ เพราะส่งออกทุเรียนผลสดไปจีนปีนี้แล้วกว่า 210 ล้านลูก มอบทูตเกษตรไทยในจีนชี้แจงข่าวสื่อสารเชิงรุก พร้อมเฝ้าระวังปัองกันปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพล่วงหน้าเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยทุเรียนไทยในฐานะแชมป์จีนแชมป์โลก

จากกรณีที่สื่อบางฉบับนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย 65 ว่ามีการเผยแพร่คลิปทุเรียนซึ่งวางจำหน่ายในประเทศจีน ที่ผู้ขายอ้างว่าเป็นทุเรียนจากไทย จนทำให้ลูกค้าในเซี่ยงไฮ้หลงเชื่อซื้อกลับไปรับประทานในราคากิโลกรัมละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท แต่กลับพบว่ารสชาติไม่ใช่ของไทย และคลิปดังกล่าวยังถูกส่งต่อในประเทศจีนเป็นวงกว้าง จนเกรงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อชื่อเสียงของทุเรียนไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (29 พ.ย.) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวได้รายงานต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ด โดยสั่งการทันทีในวันที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย 65 ให้ทูตเกษตรของไทยทั้ง 3 สำนักงาน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที โดยได้รับรายงานในตอนค่ำของวันวาน จากกงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดจำหน่ายทุเรียนตามที่ปรากฏในข่าว แต่ไม่พบการขายทุเรียน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กรณีที่เป็นข่าว เป็นรถขายทุเรียนริมทาง (รถกระบะ) ไม่ใช่การขายทุเรียนจากร้านค้าที่มีแหล่งที่ตั้งถาวร โดยปกติรถขายทุเรียนคันนี้จะจอดขายช่วงกลางคืนบนถนน Xinhua ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงวันที่ขายก็ไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะมาขายวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผ่านมารถดังกล่าวไม่ได้มาจอดขายทุเรียน ณ บริเวณนั้นนานกว่าสัปดาห์แล้ว ราคาขายจะเป็นราคาต่อจินหรือ 500 กรัม ปกติทุเรียนไทยที่จำหน่ายในช่วงนี้ราคาประมาณ 25 – 40 หยวน/500 กรัม หรือ 50 – 80 หยวน/กก.  (หรือประมาณ 250 – 400 บาท/กิโลกรัม)

ทั้งนี้ รถขายทุเรียนข้างทางส่วนใหญ่จะพบเห็นตามชานเมือง จอดขายริมถนนเฉพาะช่วงกลางคืน เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ และทุเรียนที่ขายก็เป็นทุเรียนตกเกรด คุณภาพต่ำ และส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าร้านค้าผลไม้ที่ได้มาตรฐาน

จากการสอบถามข้อมูลจากตลาดค้าส่งทราบว่า รถขายทุเรียนข้างทางในเซี่ยงไฮ้เป็นรถกระบะมาจากมณฑลอื่น โดยพ่อค้าจะไปซื้อทุเรียนตกเกรดราคาต่ำ ในปริมาณมาก ๆ มาเร่ขายริมถนน โดยบางคันจะเปลี่ยนที่ขายไปเรื่อย ๆ จะแกะเนื้อทุเรียนขายเฉพาะเนื้อ ไม่ขายทั้งเปลือก นอกจากนี้ เครื่องชั่งก็ไม่ได้มาตรฐาน จากการสอบถามผู้ที่เคยซื้อทุเรียนจากรถกระบะ จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุเรียนคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย

นอกจากนี้ จากการสำรวจร้านจำหน่ายผลไม้ในพื้นที่ 5 ร้าน ทุเรียนไทยราคาสูงกว่าทุเรียนเวียดนาม พ่อค้าบอกว่าทุเรียนไทยอร่อยและเป็นที่รู้จัก คนที่รู้จักทุเรียนก็จะมักเลือกซื้อทุเรียนไทย ในสายตาผู้บริโภคจะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างทุเรียนไทยและทุเรียนประเทศอื่นจากรูปลักษณ์ได้ แต่จะสังเกตความแตกต่างจากสติกเกอร์ที่ขั้วผลที่ระบุว่าเป็นทุเรียนจากประเทศไทยหรือเวียดนาม

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวและฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้มีการรายงานและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนที่ส่งออกมายังจีนอย่างต่อเนื่อง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยก่อนการส่งออก เพื่อมิให้มีทุเรียนตกเกรด หรือทุเรียนคุณภาพต่ำมาจำหน่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในภาพรวม ตามนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทย ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานฟรุ้ทบอร์ด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเกษตรทั้ง3 สำนักงาน ร่วมกับ ทีมไทยแลนด์ในจีนเฝ้าระวังติดตามข่าวสารในสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ หากปรากฏข่าวที่กระทบต่อผลไม้ไทยให้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนทันที นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้กรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และหน่วยงานในพื้นที่ผลไม้ทำงานเชิงรุกบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการประสานการทำงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ พาณิชย์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ สมาคมผลไม้ สมาคมทุเรียน สมาคมผู้ส่งออก หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ศูนย์ AIC และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันทุเรียนสวมสิทธิ์ ทุเรียนอ่อน ทุเรียนด้อยคุณภาพ การปนเปื้อนเชื้อโควิด การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการพัฒนาแบรนด์ เช่น สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุงจังหวัดจันทบุรี รวมทั้งการสร้างแบรนด์ทุเรียนจังหวัด เช่น จันทบุรี ตราด ระยอง ศรีสะเกษ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ยะลา และประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวอย่าง และต้องเข้าใจว่าขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ส่งออกทุเรียนผลสดรายเดียว ในจีนมีการแข่งขันในตลาดจีนมากขึ้น อาจมีผู้ไม่หวังดีออกข่าวหรือทำคลิปเผยแพร่บ่อนทำลายใส่ร้ายทุเรียนไทยให้เสียหายจึงต้องช่วยกันดูแลเป็นพิเศษ

“ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ประเทศไทยส่งออกทุเรียนผลสดไปจีนแล้วกว่า 7 แสนตัน หรือกว่า 210 ล้านผลยังเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนและครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% ทำให้ชาวสวนทุเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นและราคาดีมีเสถียรภาพ แต่ยังมีทุเรียนด้อยคุณภาพหลุดส่งออกไปจีน แม้จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่า 0.001% นับว่าน้อยมาก และสะท้อนถึงความสำเร็จของนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานที่ทุกภาคภาคส่วนได้ช่วยกันทำงาน ตั้งแต่ ชาวสวน มือตัด สหกรณ์ สมาคมผลไม้ สมาคมทุเรียน สมาคมล้ง ผู้ประกอบการเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และในต่างประเทศ แต่เราต้องทำงานหนักขึ้น เมื่อมีสถานการณ์การแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปมีคู่แข่งมากขึ้นมีการปลูกทุเรียนมากขึ้น ซึ่งฟรุ้ทบอร์ดได้เตรียมการล่วงหน้ามา 2 ปี โดยศึกษาโจทย์และความท้าทายใหม่ ๆ จนสามารถจัดทำแผนพัฒนาผลไม้ 5 ปี (2565 – 2570) จนแล้วเสร็จ และดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งการบริหารโลจิสติกส์จนสามารถเปิดด่านจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 ด่าน และประสานงานกับจีนและลาวอย่างต่อเนื่องในการขนส่งทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ตามพิธีสารผลไม้ ไทย-จีน ทางรถไฟ จีน-ลาวได้ ในเดือนหน้าถือเป็นข่าวดีและโอกาสใหม่ ๆ ของผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียน ลำไย มังคุด ฯลฯ” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated