วันที่ 22 ธันวาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานการประชุมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 (Kick Off Meeting) โดยมีผู้บริหารกรมการข้าว พร้อมด้วยพลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ กรรมการส่งเสริมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร นายป๋วย จันทรานนท์ศิริ และคณะผู้สังเกตการณ์โครงการฯ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมรวงข้าว ชั้น 2 อาคารกรมการข้าว

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวหลังการลงนามในสัญญาจัดซื้อและข้อตกลงคุณธรรม โครงการปรับปรุงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 กิจกรรมการปรับปรุงการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด – พันธุ์หลัก ว่า กรมการข้าวได้กำหนดแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกร ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 150,000 ตัน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เพียงปีละ 95,000 ตัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ และปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของกรมการข้าว ได้แก่ เครื่องจักรอุปกรณ์ศูนย์วิจัยข้าว มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ชำรุดทรุดโทรมอายุการใช้งานยาวนาน ไม่รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขาดนวัตกรรมสำหรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ขั้นพันธุ์คัดและพันธุ์หลักที่จะขยายไปสู่การผลิตเมล็ดพันธุ์ในลำดับถัดไป


ดังนั้นกรมการข้าวจึงได้จัดทำโครงการการปรับปรุงระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก ซึ่งดำเนินโครงการในศูนย์วิจัยข้าว 16 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ศูนย์วิจัยข้าวอุดรธานี ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ศูนย์วิจัยข้าวสุรินทร์ ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เพื่อเป็นการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับปรุงชั้นพันธุ์คัด-ชั้นพันธุ์หลัก และอาคารโรงคลุม อาทิ เครื่องทำความสะอาดขั้นต้น (Pre cleaner) เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์แบบใช้ตะแกรงและลม (Air screen cleaner) เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ตามความถ่วงจำเพาะ (Gravity separator) และชุดเครื่องชั่งบรรจุ เป็นต้น พร้อมระบบจัดเรียงแบบอัตโนมัติจำนวน 31 รายการ เป็นงบประมาณ 1,256 ล้านบาท

การดำเนินดังกล่าวนี้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์หลัก ให้มีเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถมีปริมาณเพียงพอในการนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์ขยายและเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์จำหน่าย ที่กำลังขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร ลดภาวะขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และให้สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated