กรมประมงเร่งเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง ตามบทบัญญัติมาตรา 25 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ครอบคลุมองค์กรชุมชนประมง 5 ด้าน คือ ด้านการประมงชายฝั่ง 857 องค์กร ด้านการประมงนอกชายฝั่ง 63 องค์กร ด้านการประมงน้ำจืด 651 องค์กร ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 883 องค์กร และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ 427 องค์กรรวมทั้งสิ้น 2,881 องค์กร ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ช่วยเหลือและจัดสรรงบอุดหนุนในการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการขององค์กรชุมชนประมงมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มจาก 62 องค์กร ใน 3 จังหวัดชายทะเล คือ นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ซึ่งในขณะนั้นชุมชนประมงพื้นบ้านได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัยพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) กรมประมงจึงได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนกว่า 53 ล้านบาท และเข้าไปเร่งฟื้นฟู พัฒนาอาชีพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 12 จึงเป็นที่มาในการดำเนินการขับเคลื่อนต่อยอดในปีงบประมาณต่อ ๆมา ตามนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งมั่นพัฒนาอาชีพของชาวประมงด้วยการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก และให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มเพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรประมง เพื่อการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน ซึ่งระหว่างปี 2563-2565 มีองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวม 856 องค์กร เป็นเงินงบประมาณกว่า 133 ล้านบาท และสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวประมงได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 3.07-20.93
อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวต่อว่า และในปีงบประมาณ 2566 นี้ กรมประมงได้มีการสนับสนุนองค์กรชุมชนเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติมอีกจำนวนทั้งสิ้น 200 องค์กร จากทั่วประเทศ ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณเป็นงบอุดหนุนให้ชุมชนละ 100,000 บาท เพื่อการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูทรัพยากรประมง โดยตั้งเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ซึ่งมีการดำเนินงานใน 4 กิจกรรม ได้แก่
1. การเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ การปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ การจัดตั้งและพัฒนาธนาคารสัตว์น้ำ การจัดตั้งโรงเพาะฟัก/สถานที่อนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำ การสร้างแหล่งอาหารธรรมชาติ และการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
2. การพัฒนาอาชีพประมง ได้แก่ การปรับเปลี่ยนเครื่องมือที่เหมาะสมและถูกกฎหมาย การสนับสนุนอุปกรณ์ซ่อมแซมเครื่องมือทำการประมงและเรือประมง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างรายได้ในชุมชน
3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะการทำการประมง ได้แก่ การอบรมให้ความรู้การทำการประมงถูกกฎหมาย การอบรมดูแลรักษาและซ่อมแซมเรือประมงและเครื่องมือประมง และการศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากพื้นที่ต้นแบบเพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนประมง
4. การเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ ได้แก่ การแปรรูปสัตว์น้ำเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าประมง การส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าประมง
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากขึ้น ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวประมง ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน มีการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนสามารถต่อยอดไปถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าพร้อมเชื่อมโยงการตลาดและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป