นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชในการประกอบอาชีพการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด ปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ปลูก และผู้บริโภค โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจะลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เช่น การใส่ปุ๋ยตามความต้องการของพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เช่น การใช้ชีวภัณฑ์ รวมถึงการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้ การปลูกพืชผักสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ดูแลรักษาง่าย และใช้น้ำน้อย แต่เกษตรกรจำเป็นต้องรู้จักวิธีจัดการแปลงผักของตนเอง เพื่อป้องกันผลกระทบทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณผลผลิต ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเกษตรกรต้องมีวางแผนการผลิตให้ดี และให้ความสำคัญกับการดูแลรักษา โดยสามารถปฏิบัติตามง่ายๆ 5 วิธี ดังนี้ 1) การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ สภาพพื้นที่ และความต้องการของตลาด ควรใช้เมล็ดพันธุ์ดี จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพและตรงตามพันธุ์ 2) พื้นที่ปลูกควรมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ระวังอย่าให้พืชขาดน้ำ และอย่าให้น้ำมากเกินไปจนแฉะ จะทำให้พืชเน่าตายได้ ควรให้น้ำในช่วงเช้าหรือเย็น และไม่ควรให้น้ำตอนแดดจัด 3) สภาพพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากแหล่งที่มีสารปนเปื้อนและโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดสารตกค้างในผลผลิต และควรมีวัสดุคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้นในแปลงปลูก 4) เกษตรกรควรป้องกันการเกิดโรคจากเชื้อราโดยการโชยน้ำ ชำระล้างใบในช่วงเช้า และการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันโรคเน่าในพืชผักได้ และ 5) หมั่นดูแลและสังเกตการเจริญเติบโตของพืชผักที่ปลูก หากพบศัตรูพืชเข้าทำลายให้รีบกำจัดก่อนที่จะเกิดความเสียหายมาก หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ ควรใช้ในปริมาณที่กำหนดตามคำแนะนำ และเกษตรกรควรหยุดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดก่อนการเก็บเกี่ยวตามคำแนะนำบนฉลาก เพื่อให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรหมั่นสำรวจดูแลพืชสวนไร่นาของตนเองอยู่เสมอไม่ว่าในฤดูกาลใด เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ปลูก และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นลดน้อยลงได้ และควรกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค หากเกษตรกรต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน