กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ร่วมมือกับภาคเอกชน สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมอารักขาพืชไทย พร้อมด้วยกลุ่มเกษตรกรพืชสวนและพืชไร่ทั่วประเทศ เดินหน้าโครงการ “เกษตร 5G (KASET5G)” หรือ 5 good คือ เกษตรดี 5 ด้าน โดยจะมุ่งเน้นให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะกลุ่มต้นน้ำ หรือ กลุ่มเกษตรกร พร้อมพัฒนาศักยภาพและคุณภาพภาคการเกษตรไทย
กลุ่มเกษตรพืชสวนและพืชไร่ทั่วประเทศ ที่ร่วมโครงการและพัฒนาเครือข่ายเกษตรคุณภาพ ได้แก่ สมาคมเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดเชียงใหม่ วิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี (KMK) ศูนย์ทุเรียนลุงแกละ สวนสมโภชน์เกาะช้าง Wild Calling ฟาร์มปาร์ค สวนอินทผาลัมคุณไข่ สวนเพชรรุ่งเรือง สวนรวมทองกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านวังน้ำบอก จังหวัดพิษณุโลก สวนลุงเบิร์ด ไร่วิยะศรีเมล่อนคาเฟ่ และ ลาวาน้ำกล้วยหอมพร้อมดื่ม
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เกษตรกรไทยเตรียมเข้าสู่ยุค Next Normal นั่นคือ เกษตรกรต้องพึ่งพาตนเอง เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในด้านเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภค ประเด็นความมั่นคงทางอาหารกลายเป็นเรื่องใหญ่ ใครมี “อาหารที่ดี” จะกลายเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองมากที่สุด การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กลายเป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกัน “อาหารปลอดภัย” เป็นเทรนด์โลก ผู้บริโภคปัจจุบันใส่ใจด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาคเกษตรกร จะต้องปรับตนเองให้สามารถผลิต “แหล่งอาหาร” ที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน และปริมาณการผลิตที่เหมาะสม
เป้าหมายสำคัญของ เกษตร 5G คือ ยกระดับสินค้าและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ถ่ายทอดความรู้และสร้างทักษะผ่านการสนับสนุนของภาครัฐและเอกชนใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเกษตรดี (Good Agriculture) ผลผลิตดี (Good Produce) ชีวิตดี (Good Life) สุขภาพดี (Good Health) และสิ่งแวดล้อมดี (Good Environment)
นายพิศาล พงศาพิชณ์
การเตรียมความพร้อมเกษตรกรสู่ยุค 5G อาหารที่มีคุณภาพ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า นโยบายด้านการเกษตรของไทยใช้ “ตลาดนำการผลิต” นั่นคือ ผลิตอย่างไรให้ได้สินค้าเกษตรและอาหารที่ตรงตามความต้องการของตลาด อันประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ สินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน สินค้าเกษตรมีความมั่นคงทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ส่วนสุดท้าย สินค้าเกษตรมีความยั่งยืนและสมดุลกันทั้งระบบจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค โดย มกอช. ได้สนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกรอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งการให้ความรู้ อำนวยความสะดวกในการยื่นขอใบรับรองระบบออนไลน์ ส่งเสริมระบบการตลาดออนไลน์และการตรวจสอบย้อนกลับ
ด้าน นางสาวนภาพร รัตนเมตตา ผู้จัดการด้านความปลอดภัยในอาหารจากโครงการระบบอาหาร-เกษตรแบบยั่งยืนแห่งอาเซียน (Global G.A.P) อธิบายถึงมาตรฐานการผลิตทางการเกษตรที่ดีและปลอดภัย หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ไว้ว่า ในกระบวนการเพาะปลูกหรือการผลิตอาหารของเกษตรกรจะต้องมีความปลอดภัย การผลิตแบบ G.A.P. สามารถใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรได้ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่จะต้องใช้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามคำแนะนำและมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้มีการตกค้างเกินมาตรฐาน หากเกษตรกรสามารถปฎิบัติได้ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการจัดจำหน่ายภายในประเทศหรือส่งออกไปยังต่างประเทศ
ดร. เปรม ณ สงขลา
หัวใจสำคัญของการอยู่รอดในยุค Next Normal ของเกษตรกรไทย ดร. เปรม ณ สงขลา ผู้ประกอบการสวนมะพร้าวน้ำหอม กล่าวว่า การรวมกลุ่มของเกษตรกรอย่างเป็นระบบ อาทิ สหกรณ์เกษตรกร จะช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง มีระบบการตลาดและการบริหารขนส่งสินค้าที่ดีขึ้น รวมทั้ง เกษตรกรต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์และความต้องการสินค้าเกษตรของโลก เช่น ตลาดยุโรปต้องการสินค้าแบบไหน กำลังแบนสินค้าใด เพื่อให้สามารถปรับตัวและการผลิตได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้โครงการเกษตร 5G (KASET5G) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย จากเดิมการเผาอ้อย ก่อให้เกิดมลพิษ เปลี่ยนมาตัดใบสด ใช้ใบคลุมดิน เพิ่มความชุ่มชื้นประหยัดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรลง นายชวการ ช่องชลธาร ไร่ชวการ จังหวัดชลบุรี อธิบายว่า การเผาจะทำให้เกิดมลพิษ จึงพยายามสื่อสารให้ชาวไร่ใกล้เคียง และในหมู่บ้านเปลี่ยนมาตัดใบสดเพื่อส่งโรงงานไฟฟ้า อีกทั้งใบอ้อยยังใช้คลุมดินได้ เป็นปุ๋ยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเกินไป เพราะปัจจุบันมีราคาแพง ซึ่งการตัดใบสดของอ้อยยังเป็นการสนัลบสนุนนโยบาย BCG เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายพิพัฒนา เต็งเศรษฐศักดิ์ คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี (KMK) แสดงความคิดเห็นว่า เกษตร 5G (KASET5G)ให้กระบวนการ วิธีการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง ทำให้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเอง แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของเกษตรกรรุ่นพี่ ทำให้สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตของตนเองได้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้ง การรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ช่วยกันคิดและพัฒนา ทำให้กลุ่มเข้มแข็งยิ่งขึ้น สามารถต่อรองในเรื่องราคาได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ นางชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง บ้านวังน้ำบอก จังหวัดพิษณุโลก กล่าวสนับสนุนว่า การรวมกลุ่มเกษตรกร 5G (KASET5G)ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่จะเป็นการให้ความรู้ที่สนุกเป็นกันเอง แต่ยังช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ ควบคุมการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดด้วย
ดร. จุฑารัตน์ พัฒนาทร
“การรวมกลุ่มของเกษตรกรครั้งนี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว แม็คโครยินดีให้การสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ ด้วยการพัฒนาจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ แล้วค่อย ๆ ยกระดับสินค้าเกษตรของไทยจากความปลอดภัยระดับประเทศไปสู่ระดับสากล โครงการ “เกษตร 5G” (KASET5G) จะเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรอย่างยั่งยืนได้และสามารถใช้ช่องทางของแม็คโครเปิดตลาดโลก นำสินค้าเกษตรไทยไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้” ดร. จุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย