ด้วยภารกิจที่หนักอึ้งดั่งลำตัวกับความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและภาคเอกชนเสมือนขามากมายของกิ้งกืออันเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่โด่งดัง ได้รับรางวัลการบริหารจัดการดีเด่นด้านการปกครองของเทศบาลตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จับมือกับสมาคมทุเรียนใต้ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กรมวิชาการเกษตร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน เร่งจัดการ สนับสนุนการสร้างทุเรียนพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่เป็นที่นิยมของเกษตรกร ด้วยราคาที่ทำให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวแทนพื้นที่เศรษฐกิจเดิม เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เงาะ และมังคุด ได้ดีในตลาดที่มีความแปรปรวนอยู่ตลอด ด้วย “ทฤษฎีขากิ้งกือ”
ทุเรียนจึงเป็นหนึ่งในพืชทางออกความหวังใหม่ของเกษตรกรในพื้นที่บ้านส้องที่มีราคาสูง อีกทั้งราคายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยหนึ่งในตลาดส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทยคือ จีน แต่ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคจีนกำลังถูกท้าทายจากคู่แข่งอย่างเวียดนาม และมาเลเซีย ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ในปัจจุบันพื้นที่ตำบลบ้านส้องมีแหล่งปลูกทุเรียนใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศ ด้วยพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ยปีละกว่า 4,000 ตัน นำรายได้เข้าสู่ชุมชนกว่า 400 ล้านบาท
เทศบาลตำบลบ้านส้องมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผลผลิต จึงเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถปลูกทุเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ “กิจกรรมฝึกอบรมและศึกษาดูงานการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี” หลักสูตรการผลิตทุเรียนคุณภาพตามมาตรฐาน GAP พืชอาหาร รุ่นที่ 1 ในวันที่ 18-19 มกราคม 2566 มาให้ความรู้เพื่อรับมือทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โรค แมลง ตลอดจนการจัดการให้สามารถวางแผนระบบการผลิตได้อย่างถูกต้องปลอดภัย และได้การรับรองมาตรฐาน GAP ตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมทุเรียนใต้ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กรมวิชาการเกษตร และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน อีกทั้งได้รับเกียรติจาก นายคนองศิลป์ จิตรกุล นายกเทศมนตรีตำบลบ้านส้อง เปิดโครงการ รุ่นที่ 1 คัดเกษตรกรที่เริ่มได้ผลผลิตทุเรียนโดยมีแนวทางการรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร
โดย นายคนองศิลป์ ชิตรกุล นายกเทศมนตรีตำบลบ้านส้อง กล่าวว่า “กระผมในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นเทศบาลตำบลบ้านส้อง จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนทุกราย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภค ผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้อยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน ส่วนสถานการณ์การส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ในตอนนี้ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ทุเรียนไทยยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง”
นายศิริ เฮ่าสกุล นายกสมาคมทุเรียนใต้ ได้ให้ข้อมูลด้านสถานการณ์ความต้องการบริโภคทุเรียนในจีนที่เพิ่มขึ้นต่ออย่างเนื่อง หลายประเทศจึงให้ความสนใจและเริ่มหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในด้านพื้นที่และสภาพอากาศที่เหมาะสมจึงง่ายต่อการบริหารจัดการ ดังนั้นการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นการพัฒนาทุเรียนที่แก่จัดมากขึ้นเพื่อความอร่อยเป็นที่พึ่งพอใจต่อผู้บริโภค ให้ตลาดทุเรียนไทยเกิดความยั่งยืนและมีเสถียรภาพทางราคา และทางคณะร่วมจัดงานได้ให้ความสำคัญต่อแนวทางการจัดการโรคของทุเรียนที่เกิดจากเชื้อไฟทอปเทอร์ร่าและเชื้อฟิวซาเรียม การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน และ GAP เทคนิคในการจัดการแมลงและไรศัตรูทุเรียน และการจัดการธาตุอาหาร อีกทั้งมีการเรียนรู้ภาคสนาม แบ่งเป็น 4 ฐานกิจกรรม ได้แก่ การบริหารจัดการมาตรฐาน GAP ของทุเรียน การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย การใช้และดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องพ่นสารฯชนิดต่าง ๆ ในทุเรียน
และการส่งเสริมระบบการจัดการน้ำ เทคนิคส่งเสริมการออกดอก และติดผล โดย นายสุชาติ คงรอด อุปนายกฝ่ายผลิตและควบคุมคุณภาพ ได้กล่าวว่าเทคนิคนี้ทำได้ด้วยการทำใบให้พร้อม ตัดหญ้ากวาดโคน งดน้ำ ให้ความชื้นลดลง ใส่ปุ๋ย 8-24-24 กระแทกน้ำให้ปุ๋ยละลาย งดน้ำรอดูดอกจะเริ่มมาเป็นไข่ปลาเปิดตาดอกพอดอกเป็นตาปู ให้รดน้ำหนัก ๆ ดอกจะเป็นตาปู 5-7วัน เริ่มแต่งแขนง สะสมอาหารตามปกติ ออกดอกได้ 30 วัน แต่งดอกที่ปลายกิ่งออก หลังจากดอกบานได้ 30 วัน ทำการตัดแต่งลูกโดยประมาณจำนวนลูกต่ออายุของต้น เพื่อให้ได้ทุเรียนที่ดีและมีคุณภาพ
จากการร่วมมือกันใช้นวัตกรรมทางความคิด “ทฤษฎีขากิ้งกือ” จึงมีความสำคัญในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน เปรียบเสมือนกิ้งกือที่มีขามากมายนับร้อยคู่ช่วยกันเดินไปถึงจุดหมายได้อย่างมั่นคง แสดงให้เห็นจากการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพ “กิจกรรมฝึกอบรมและศึกษาดูงานการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามแนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี” เพื่อเร่งสร้างเกษตร พัฒนาทุเรียนใต้เมืองคนดีให้มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมตั้งเป้าเดินหน้าโครงการสู่เกษตรกรรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง