โครงการ ตามหาสุดยอดทุเรียนไทย ที่ “เกษตรก้าวไกล” ได้เริ่มต้นขึ้นมาจากเหตุผลหลัก 2 ประการ หนึ่งนั้น ทุเรียนไทยของเรากำลังถูกท้าทายจากประเทศคู่แข่ง สองนั้น เรากำลังประสบปัญหากับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) ทำให้ทุเรียนออกไม่ตรงตามฤดูกาล และก่อให้เกิดปัญหาโรคแมลงต่างๆ
จาก 2 เหตุผลดังกล่าว เราก็เลยตั้งสมมติฐานว่า ถ้าเกษตรกรไทยทุกคนตื่นตัวรับมือและวางแผนรุกไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะทำให้เราผ่านพ้นมรสุมตรงนี้
ชมLIVEระบบน้ำสวนทุเรียน นายศิริ เฮ่าสกุล (นายกโหน่ง) นายกสมาคมทุเรียนใต้ สวนตั้งอยู่ที่ ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี https://fb.watch/i8s0z-i6jj/
เราไปเอาฤกษ์เอาชัยในการเริ่มต้นจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มที่สวนทุเรียนของ นายกโหน่ง – ศิริ เฮ่าสกุล นายกสมาคมทุเรียนใต้ และยังได้พบกับ “โค้ชตู่” เลขาธิการสมาคมฯ ซึ่งเราพูดคุยเรื่องการจัดกการสวนทุเรียน เน้นการวางแผนงานที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นก็จะประสบความสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมออกแบบวางแปลง เช่น การยกโคก ยกร่อง และสำคัญที่สุดเรื่องการออกแบบระบบน้ำ ที่จะต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาล
นอกจากระบบน้ำที่สวนนายกโหน่ง เรายังไปดูสระน้ำบนภูเขาที่สวนทุเรียนนายคิง – เกียรติศักดิ์ ทองนวล ตามที่เราได้เสนอข่าวและคลิปไปแล้ว
ในโอกาสนี้เรายังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องอนาคตทุเรียนไทยและการพัฒนาวงการทุเรียนไทยให้สามารถรับมือและรุกไปข้างหน้ากับนายกโหน่ง แบบว่าขับรถไปคุยกันไป
ที่สุราษฎร์ธานี เรายังได้แวะไปเยี่ยมชนสวนทุเรียนของคุณสานนท์ พรัดเมือง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขา GAP ปีล่าสุด 2565 เขาได้แบ่งปันความรู้เรื่องการทำดอกทุเรียน ซึ่งล่าสุดนี้หลังจากเรื่องราวของเขาถูกถ่ายทอดออกไป ปรากฎว่ามีผู้สนใจไปศึกษาดูงานกันมาก
เดินทางต่อไปที่จังหวัดชุมพร Next Gen Ranger Chumphon เราพบว่าการปลูกทุเรียนรุ่นใหม่อยู่บนความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะโรคแมลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย การถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ของเกษตรกรด้วยกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ทุกคนไปด้วยกันไปได้ไกล
เราได้พูดคุยกับ ลุงพจน์ “สุพจน์ โสมขันเงิน” เกษตรกรชั้นครูที่ปลูกทุเรียนมากว่า 40 ปี ซึ่งได้พาเราไปชมทุเรียนอาวุโสที่ยังทำรายได้ปีละหลายล้านบาท และแปลงทุเรียนที่ปลูกใหม่ ตามคลิปที่เรานำเสนอไปแล้ว
ตามโปรแกรมวันนั้นลุงพจน์จะพาเราไปที่สวนทุเรียนทันสมัยขนาดใหญ่ของเกษตรกรรุ่นใหม่คนหนึ่ง ที่จะมีโปรแกรมตัดทุเรียนในวันนั้น แต่เนื่องจากเจ้าของสวนติดโควิดก็เลยต้องเลื่อนโปรแกรมตัดในอีกวัน ลุงพจน์จึงพาเราไปพบพี่แหนงหรือ “ผู้ใหญ่แหนง” ปราชญ์ทุเรียนอีกคนของชุมพรว่าด้วยทฤษฎีการปลูกทุเรียนแบบนมสาว โดยลุงพจน์ และพี่แหนงให้ข้อมูลตรงกันว่าทุเรียนรุ่นใหม่ต้องยกโคกแบบนมสาวหรือทรงกระทะ จะทำให้การระบายน้ำออกจากต้นรวดเร็ว (ชมเพิ่มเติมจากคลิปประกอบข่าวบนนี้)
ปิดท้ายก่อนอำลาชุมพร เราไปพบ ลุงเหนอ – เสนอ ศรีคง เกษตรกรนักสู้ที่หันมาเอาดีทางการปลูกกาแฟและแปรรูปกาแฟในแบรนด์ลุงเหนอ ซึ่กำลังสร้างโรงงานใหม่ แต่ก็ไม่ทุ่มเรื่องทุเรียน ยังคงปลูกแบบเน้นธรรมชาติ ซึ่งปีนี้ให้ผลผลิตนอกฤดู 4-5 ต้น และลุงเหนอได้ขึ้นโชว์ตัดทุเรียนแบบข้ามาคนเดียว(ชมเพิ่มเติมจากคลิป) พร้อมกันนั้นได้ขนทุเรียนขึ้นรถให้เอาไปฝากคนที่บ้านด้วย
ข้อคิดจากเกษตรกรทุกคนที่เราไปพบ พูดตรงกันว่าภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทุเรียนออกไม่ตรงฤดูกาล เพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมหรือการวางแผนที่ดีสำคัญที่สุด จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบา อย่างเช่นง่ายๆแค่การยกโคก จะช่วยให้ระบายน้ำใต้ต้นทุเรียนได้ดี
ธงชาติไทยชักขึ้นที่ริมสระเก็บน้ำ..สื่อถึงชาวโลกว่าเราจะผลิตทุเรียนคุณภาพด้วยระบบน้ำที่ดีที่สุด
สมัยก่อนไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจึงไม่ต้องยกโคก และกับฝนฟ้าที่ไม่เป็นใจบางฤดูกาลก็แห้งแล้งรุนแรงการเตรียมสระเก็บน้ำจึงมีความจำเป็น แม้ว่าการลงทุนครั้งแรกจะสูงแต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว
ฟอร์ดสนับสนุนการเดินทางตามหาสุดยอดทุเรียนไทย
การเดินทางตามหาสุดยอด(ภูมิปัญญา)ทุเรียนไทยของเราได้รับการสนับสนุนการเดินทางจากฟอร์ดประเทศไทย เกษตรกรหลายคนมักพูดว่าเห็นทีไรก็ฟอร์ดป้ายแดงทุกครั้ง ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น และในครั้งนี้นายกโหน่งได้ทดลองขับฟอร์ดเน็กเจนเรนเจอร์รุ่นใหม่ล่าสุดให้เรานั่ง บอกว่าขับได้ดีมาก เหมาะกับสภาพพื้นที่ในแปลงเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงที่เราเดินทางนั้นฝนตกเกือบตลอดเวลา
จากสุราษฎร์ธานี และชุมพร เราก็จะออกเดินทางตามหาสุดยอดทุเรียนไทยไปทั่วประเทศ โปรแกรมต่อไปจะแวะไปที่ภาคตะวันออกในช่วงที่ทุเรียนใกล้ตัด ประมาณเดือนมีนาคม ถัดจากนั้นคาดว่าจะเดินทางไปต่อภาคอีสาน โดยมีเป้าหมายว่าจะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ..
ที่สวนทุเรียนนายคิง เขาหัวควาย
เรื่องราวทั้งหมดเราจะถ่ายทอดผ่านเว็บไซต์เกษตรก้าวไกล รวมทั้งสื่อออนไลน์ในเครือข่าย ทั้ง YouTube Facebook TikTok โปรดติดตามนะครับ