นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกเมล็ดพันธุ์มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์ผักในระดับโลก (World Leader of Tropical Seed) ตามที่ได้ประกาศไว้ในที่ประชุม Asian Seed Congress 2022 โดยเป้าหมายการดำเนินการที่เกิดขึ้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ประสานการทำงาน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ใช้นโยบายในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในแบบ “ตลาดนำการวิจัย” และ “ตลาดนำการผลิต” โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงสำหรับเกษตรกร
ทั้งนี้เพื่อเป็นการ สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องเมล็ดพันธุ์คุณภาพกรมวิชาการเกษตรได้มีการผลักดันการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจศัตรูพืช (Plant Pest Laboratory Certification) ของบริษัทเอกชน ในการอำนวยความสะดวกการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เพื่อยืนยันว่าพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชที่ส่งออกจากประเทศไทยปราศจากศัตรูพืชและโรค และเป็นไปตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศ/ภูมิภาคที่นำเข้า
โดยในวันนี้(วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ) กรมฯได้มอบหนังสือรับรองให้กับห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชของไบเออร์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนเป้าหมายการส่งออกเมล็ดพันธุ์ และผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์ผักในระดับโลกของไทยต่อไป
นายวีรพล เจริญพานิช
ขณะที่นายวีรพล เจริญพานิช ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจครอปซายน์ ประเทศไทย กัมพูชา พม่า บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไบเออร์ไทย มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชของบริษัทที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร สามารถออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งต่อ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงและได้มาตรฐานการส่งออก เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชของไบเออร์ ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้ผ่านเงื่อนไขการรับรองและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้การที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกใบรับรองการตรวจสอบศัตรูพืช สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ทุกคนมีสุขภาพดี และไม่ขาดแคลนอาหาร” (Health for all, Hunger for none) ที่ไบเออร์ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต โดยทำงานร่วมกับเกษตรกรเครือข่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์ผักที่มีคุณภาพ โดยไบเออร์มีศูนย์การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นและสกลนคร มีเครือข่ายเกษตรกรที่บริษัทฯได้เข้าไปพัฒนาทักษะในการผลิตเมล็ดพันธุ์กว่า 9,000 ครัวเรือน ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม และยังช่วยเพิ่มทักษะในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกในครัวเรือน
นายวีรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจคอรปซายน์ทั่วโลก ทุ่มทุนกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปีในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของไบเออร์ไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกัน เพื่อทำให้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตจากไทยมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้บริษัทยังได้ให้การสนับสนุนกรมวิชาการเกษตรในการผลักดันนโยบายและการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยให้เป็น World Leader of Tropical Seed ตามที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว จึงได้มีการลงทุนและพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชตามแนวทางนโยบายของกรมวิชาการเกษตร ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนเป้าหมายการส่งออกเมล็ดพันธุ์ และผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์ผักในระดับโลกของไทย โดยปัจจุบันไบเออร์ได้ส่งออกเมล็ดพันธุ์จากไทยไปทั่วโลกกว่า 80% ตลาดหลักเป็นยุโรป อัฟริกาใต้ อเมริกา จีน และอินเดีย ส่วนอีก 20% จำหน่ายในประเทศ เมล็ดพันธุ์หลักเป็นมะเขือเทศ พริก แตงโม ข้าวโพดหวาน