โปรตีนเป็นหนึ่งในสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย “จิ้งหรีด” จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางโปรตีนสูงแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่น ทั้งเชิงพื้นที่ อาหารและน้ำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเพาะเลี้ยงและจำหน่ายจิ้งหรีดแช่แข็งเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีผู้เลี้ยงจิ้งหรีดจำนวนมากขึ้นในปัจจุบันและส่งผลให้ผลิตผลจิ้งหรีดหรือจิ้งหรีดแช่เยือกแข็งมีการแข่งขันด้านราคากันมากขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่แปลกใหม่ในท้องตลาดมีความต้องการสูงมากขึ้น
ดังนั้นทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จึงมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดประเภทใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ จึงได้ปรึกษากับทีมนักวิจัยจากสาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับธนาคารออมสินที่ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จนได้เป็นผงโปรตีนจิ้งหรีดคุณภาพสูงและขนมขาจิ้งหรีด มีการถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และทำการผลิตจำหน่ายได้จริง
ผลิตภัณฑ์ที่ทางทีมผู้วิจัยได้ร่วมพัฒนากับชุมชนออกมาเป็น ผงโปรตีนจิ้งหรีดนี้ผลิตจากนำจิ้งหรีดแช่แข็งมาอบแห้งจากนั้นนำไปรีดน้ำมันเพี่อการเก็บรักษาและให้ได้คุณลักษณะที่ต้องการ และนำไปปั่นผงละเอียดและได้เป็นผงโปรตีนจิ้งหรีด ที่สามารถพัฒนาออกมาเป็นขนมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ขนมปังอบกรอบที่มีส่วนประกอบของผงโปรตีนจิ้งหรีด มี 2 รสชาติ รสเนยนมและรสอัลมอนด์ โปรตีนสูงและไขมันต่ำไม่ผ่านกระบวนการทอด ขนมขาจิ้งหรีดสร้างสรรค์เมนูจากส่วนผสมของแป้งขนมปัง แป้งอเนกประสงค์และผงโปรตีนจิ้งหรีดที่ได้พัฒนาขึ้น
โดยขนมที่พัฒนาขึ้นนี้จะนำมาบรรจุในผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบใหม่ และจำหน่ายสู่ท้องตลาด ผงโปรตีนจิ้งหรีดโปรตีนสูงเป็นการสนับสนุนให้นักศึกษานำความรู้จากห้องเรียนไปสร้างรากฐานสำคัญแก่ชุมชน เกิดประโยชน์จริง ซึ่งทีมนักวิจัยจากสาขาวิชาวิศวกรรมอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย นักศึกษา ได้แก่ นายภูธเนศ บุญมาเลิศ นางสาวชลิดา พิมศรี นางสาวณัฐนิชา รัตโนทัย และนางสาววนิตชญา สมบูรณ์ นักศึกษา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ จงเจริญรักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทวรา ปฐมรังษิยังกุล
ด้วยตลาดเพาะเลี้ยงและส่งออกจิ้งหรีดจึงมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น ทีมนักวิจัยฯ เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาความรู้สู่ชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันกับตลาดการส่งออกแมลงอย่างยั่งยืนด้วยการเพิ่มพูนความรู้ทางด้านการเงินและการทำบัญชี สร้างความมั่นคงทางการเงินในกลุ่มวิสาหกิจ ทั้งเพิ่มช่องทางทางการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มคนรักสุขภาพควบคู่กับเทรนการตลาดเกี่ยวกับโปรตีนทางเลือก โดยเฉพาะโปรตีนจากแมลง ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนให้นักศึกษานำความรู้จากห้องเรียนไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชน ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อต่อยอดให้ชุมชนสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ขนมขาจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านแม่ตาด สามารถติดต่อได้ที่ Facebook : กินแมง แมลงกินได้ หรือ โทร 080 924 1598