วันนี้ ( 27 ก.พ.66) EASYRICE (อีซีไรช์) บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในเกษตรกรรม ได้จัดงานแถลงข่าวครั้งแรกขึ้น ภายใต้ชื่อ EASYRICE Press Conference 2023 เพื่อประกาศความสำเร็จ วิสัยทัศน์ และเปิดแผนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ประจำปี 2565 พร้อมเผยหน่วยงานพันธมิตร นักลงทุน และผู้สนับสนุนในการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และสนับสนุนเทคโนโลยีของ EASYRICE ให้เป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง มีคุณภาพ และสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จํากัด ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการต่อตั้ง EASYRICE โดยมีที่มาจากการพบปัญหาในขณะการทำโปรเจควิจัยเกี่ยวกับข้าวในมหาวิทยาลัย ว่าด้วยเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ต้องใช้ “คน” ที่มีความเชี่ยวชาญในเมล็ดข้าวโดยเฉพาะ ตลอดเวลาที่ผ่านมาส่วนมากจะทำการตรวจสอบด้วยตาเปล่า ซึ่งอาจมีปัจจัยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการตรวจสอบคุณภาพข้าว จึงทำให้เกิดไอเดียในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial-Intelligence (AI) แก้ไขจุดบกพร่องในการตรวจสอบ ลดโอกาสผิดพลาด เพิ่มความเสถียร และแม่นยำ รวมถึงยกระดับการตรวจสอบให้มีมาตรฐาน
“การตรวจสอบคุณภาพอาหารหลัก ต้องการให้เกิดการยกระดับแบบการเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ และต้องการโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อทำให้ประชาชนโลกมีความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ของ EASYRICE จะมีบทบาทอย่างมากในการยกระดับนี้” นายภูวินทร์ กล่าว
ในแง่ของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี นายวิษุวัต ซันเฮม ประธานฝ่ายปฏิบัติการ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและผู้ร่วมก่อตั้ง และ นางสาวสุจิตรา สุทธิธาทิพย์ ประธานฝ่ายดูแลและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ได้กล่าวสมทบว่า ในปัจจุบัน EASYRICE ได้เปิดตัว AI ไปแล้ว 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ AI ตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกและระบบ AI ตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร ซึ่งเป็นเป็นเทคโนโลยี AI แรกที่ลงสู่อุตสาหกรรมข้าว โดยหลังจากที่ AI ทั้ง 2 ระบบเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตรวจสอบ ได้ช่วยให้การตรวจเป็นไปอย่าง ง่ายดาย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดต้นทุน ลดเวลาและลดความผิดพลาดในกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งในอนาคต ทาง EASYRICE มีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้าถึงผู้ใช้งาน และผลผลิตที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการตรวจสอบที่มากยิ่งขึ้นในระดับสารอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในตลาดข้าวและตลาดอาหารอื่นๆ ที่ผันแปรไปตามกระแส
ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีหลัง EASYRICE เปิดตัวผลิตภัณฑ์ ต่างได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานตั้งแต่ระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โรงสี และผู้ส่งออกข้าว มากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้ทำการประยุกต์ใช้ระบบ AI ของ EASYRICE ทั้งในส่วนของ การรับซื้อรับขาย หรือในกระบวนการปรับปรุง ผลิต ไปจนถึงแพ็คถุงเพื่อขายในประเทศหรือส่งออก ทำให้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบไปมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวไปมากถึง 6 ล้านตัน โดยลูกค้ามากกว่า 90% พึงพอใจในการใช้งาน AI ของ EASYRICE จากการส่งแบบสอบถามประเมินทั้งในด้านความแม่นยำ ความเร็ว และวิธีการใช้งานระบบ ทำให้ EASYRICE เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี AI จึงได้ทำการขยายตลาดไปยังประเทศผู้ผลิตข้าวรายหลักของโลก โดยตอนนี้ได้มีกลุ่มผู้ทดลองใช้งาน (Trial User) ระบบ AI ของ EASYRICE ในประเทศเวียดนามไปแล้วกว่า 25 รายในระดับโรงสี และผู้ส่งออก อีกทั้งยังมีแผนขยายต่อไปในประเทศกัมพูชา และประเทศอินเดียในอนาคต
EASYRICE เล็งเห็นถึงความสำคัญในโอกาสและการขยายธุรกิจ โดยได้รับการหนุนจากหน่วยงานชั้นนำในอุตสาหกรรม ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายแขนง ได้แก่ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) และ บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด (VARUNA) บริษัทในเครือของ ปตท.สผ. ซึ่งมีเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมในการประเมินปริมานและกิจกรรมทางด้านการเกษตร และบริษัท ยิบอินซอยและแย็คส์ จำกัด ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวกับปุ๋ยและเทคโนโลยีการเกษตร อีกทั้งยังมีบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด (InnoSpace) และ Accelerating Asia Pte Ltd. จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเน้นลงทุนเพื่อส่งเสริมธุรกิจทางด้าน Deep Tech นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐ อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่มอบทุนให้ในโครงการ Open Innovation และทุนสนับสนุนจาก TEDFund ในโครงการ Youth Startup Fund ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ด้วยวิสัยทัศน์ “นำเทคโนโลยีดิจิทัลสู่กระบวนการผลิตอาหารหลักของประชากรโลก เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่และเปลี่ยนกระบวนการทำงานและมอบความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม” เป็นเป้าหมายที่ EASYRICE ยึดมั่นในการมุ่งมั่นวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ โดยจะไม่หยุดเพียงแค่ข้าว แต่ยังพร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต กาแฟ เป็นต้น รวมถึง AI ในการตรวจสอบเชิงลึกแบบต่างๆ เพื่อมอบความสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัยสู่ระบบที่ทำให้ทั้งห่วงโซ่อุปทานอยู่ได้อย่างยั่งยืน