วันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง จับมือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แถลงข่าวความร่วมมือการพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พร้อมจัดกิจกรรมบรรยายและเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านสัตว์น้ำ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยให้มีความยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง และ สวทช. ได้มีความร่วมมือทางวิชาการด้านประมงกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมดำเนินงานด้าน การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนกำหนดทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยการคัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ตัวใหม่เพื่อผลิตและแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมไปถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ไปยังสหกรณ์ ชมรม และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างกว้างขวาง ซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีในการเลี้ยงกุ้งทะเล บรรเทาความเสียหายจากการเกิดโรคในกุ้งทะเล และช่วยในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้
โดยภายในงานได้มีการจัดการสัมมนา เรื่อง นวัตกรรมสู่อนาคตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยั่งยืน มีกิจกรรมบรรยายและเสวนาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาด้านสัตว์น้ำของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร การนำเสนอความร่วมมือในการพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ระหว่างกรมประมงและ สวทช. การเสวนา แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำตามแนวทาง BCG และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การเสวนา ความต้องการวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชนด้านสัตว์น้ำ รวมไปถึงการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากนักวิจัยของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงพร้อมที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับ สวทช. ในการดำเนินการวิจัยและพัฒนางานด้านจุลินทรีย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการเพาะเลี้ยงและการผลิตสัตว์น้ำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยให้มีความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง