กรมประมง เดินหน้าผลักดันสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ 14 ชนิด พร้อมขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565 – 2570 มุ่งยกระดับความสามารถการพัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำและธุรกิจเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อให้สินค้าสัตว์น้ำจืดของไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกษตรกร รวมถึงพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565-2570 ที่มุ่งพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำจืดและพัฒนาธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้มีประสิทธิภาพผ่านกลไกความร่วมมือของคณะกรรมการคณะอนุกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจฯดังกล่าว ในรูปแบบการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ของหน่วยงานกรมประมงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งจากเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนฯ หรือ มิสเตอร์สัตว์น้ำรายชนิด จำนวน 14 ชนิด ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาแรด ปลาสลิด ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย กบนา ปลาหมอ ปลายี่สกเทศปลานวลจันทร์เทศ ปลากดหลวง ปลาเทโพ และปลากดเหลือง ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักในการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำฯ ใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และการตลาด เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสู่การการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้ง 14 ชนิดได้ทั้งระบบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านอาชีพของเกษตรกร และการพัฒนาภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
ด้าน นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า…ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เพื่อให้มีผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและสามารถส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ ตลอดจนการบริหารจัดการภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้อย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านผลผลิตสัตว์น้ำ เกิดความมั่นคงด้านอาหารสัตว์น้ำจืด ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆโดยในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมานั้น ได้ดำเนินการนำร่องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพประมง กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ 14 ชนิดดังกล่าวไปแล้วกว่า 390 ราย ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี
และในปี พ.ศ. 2566 ยังมุ่งเน้นการพัฒนาฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกกว่า 410 ราย เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มการเพาะเลี้ยง สร้างความเข้มแข็ง และพัฒนากลุ่ม ถอดบทเรียนเกษตรกรต้นแบบ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตสัตว์น้ำ ตลอดจนการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อวางแผนการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผ่านกลไกความร่วมมือของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565-2570 ของกรมประมง
โดยหนึ่งในคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนฯ นายรัฐภัทร์ ประดิษฐ์สรรพ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวเพิ่มเติมในฐานะ มิสเตอร์ปลานิลว่า…“ปลานิล” จัดเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ จากการรวบรวมข้อมูลสถิติ โดยกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กรมประมง พบว่า ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลานิลของประเทศไทย ในปี 2565 นั้น มีปริมาณการส่งออก 8,101.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 504.14 ล้านบาท นอกจากนี้กรมประมงได้มีการเพาะพันธุ์ปลานิลและจำหน่ายให้เกษตรกรภายใต้กองเงินทุนหมุนเวียน ของกรมประมง ซึ่งในทั้งปีงบประมาณ 2565 สามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ปลานิล ได้จำนวน 124,987,560 ตัว เป็นเงิน 35,618,668 บาท แสดงให้เห็นว่าปลานิลยังคงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโต และควรผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาปลานิล ได้กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปลานิล ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการเพาะเลี้ยง เพื่อผลิตปลานิลให้ได้คุณภาพอย่างมีมาตรฐาน ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการหาช่องทางการตลาดคุณภาพที่สามารถรองรับปริมาณผลผลิตจำนวนมาก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปลานิลล้นตลาด โดยล่าสุดนี้ กรมประมง ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ในการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมปลานิลไทย (Thai Tilapia Association) ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การผลิตและการตลาด ตลอดจนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงและส่งออกปลานิลเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า…ในอนาคต กรมประมง มีแนวทางในการที่จะส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำทั้ง 14 ชนิด ให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนทั้งด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำครบวงจร พัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและการพัฒนาด้านการตลาด โดยการส่งเสริมขยายตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการจัดทำข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสัตว์น้ำจืดทั้ง 14 ชนิด อย่างยั่งยืนโดยการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ