กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ชูกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเกษตรปลอดภัย พร้อมส่งเสริมการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรด้วย BCG Model

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการส่งเสริมกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้เน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกหรือเกษตรกรผู้ปลูกส้มสายน้ำผึ้งในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า การใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย  การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน  การจัดการดินและปุ๋ยในสวนส้ม รวมถึงการตรวจรับรองแปลงมาตรฐาน GAP แบบดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคส้มสายน้ำผึ้งที่ปลอดภัยและมั่นใจในกระบวนการผลิต พร้อมส่งเสริมการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรด้วย BCG Model หรือพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน

โดยจุดเด่นของส้มสายน้ำผึ้งในอำเภอฝาง จะมีผิวสีเหลืองทองอร่ามเมื่อสุกได้ที่ เปลือกบาง ปอกง่าย ชานหรือใย มีลักษณะนิ่มไม่หนา เนื้อแน่นน้ำเยอะ มีรสจัดจ้าน กลมกล่อม หวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อยไม่หวานจืด โดยเฉพาะส้มสายน้ำผึ้งในตำบลโป่งน้ำร้อน และตำบลม่อนปิ่น ได้รับน้ำแร่ธรรมชาติจากน้ำพุร้อน ซึ่งเกิดจากหินร้อนเหลวที่อยู่ใต้เปลือกโลก (แม็กม่า) ซึ่งมีแร่ธาตุอาหาร ได้แก่ แคลเซียม โซเดียม และซัลเฟอร์ ทำให้ส้มมีคุณภาพดี รสชาติหอมหวาน สีเปลือกเหลืองสวยงาม และเป็นที่นิยมของผู้บริโภค

ด้านนายคเณศ หน่อราช ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน กล่าวว่า แม้ว่าจะเพิ่งก่อตั้งกลุ่มได้เพียง 3 ปี แต่ทางกลุ่มก็มีความเข้มแข็ง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การดูแลรักษา การผลิตที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน รวมถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าจากกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสามารถขายให้พ่อค้าที่มารับซื้อวันละกว่า 2 ตัน ราคาขายส่งที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มส่วนใหญ่มีรายได้เพียงพอ และบางรายยังสามารถจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายคเณศ หน่อราช ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน

สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ส้มสายน้ำผึ้งตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 30 ราย พื้นที่การผลิต 346 ไร่ ได้ผลผลิตรวมทั้งหมด 1,557 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยที่ 4,500 กิโลกรัมต่อไร่ โดยผลผลิตจะมีมากช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี

    

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated