นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแสดงความยินดีกับสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตร ทั้ง 4 ท่าน ที่ได้รับคัดเลือกเป็นสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตร และเข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในงานวันสตรีสากลประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “พลังสตรีและเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน” พร้อมด้วยสตรี บุคคล และหน่วยงานองค์กรดีเด่นในสาขาต่าง ๆ รวม 15 สาขา 58 รางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติสตรี และสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม

โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานคณะอนุกรรมการคัดเลือกสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตรของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้คัดเลือกสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4 ท่าน โดยคัดเลือกจากเกษตรกรที่ทำการเกษตรในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

ประกอบด้วย 1. นางสาวนุชจรี บุญมี จังหวัดชลบุรี เป็น Smart Farmer ต้นแบบ ปี 2564 เป็นเกษตรกรต้นแบบที่นำแนวคิด BCG มาบริหารขับเคลื่อนงานในชุมชน สามารถเพาะเลี้ยงปลานิลได้อย่างครบวงจร ทั้งการลดต้นทุน การแปรรูปอาหารโดยเฉพาะ จ๊อปลานิล ที่มีหนึ่งเดียวในประเทศ การสร้างการตลาด ความปลอดภัย และเป็นผู้นำด้านการฉีดผสมเทียมพันธุ์ปลาน้ำจืดรายแรกของตำบลท่าข้ามและขยายผล     สู่ชุมชนต่าง ๆ 2. นางสำรวย บางสร้อย จังหวัดร้อยเอ็ด เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาไร่นาสวนผสม ปี 2562 เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ปี 2564 ประธานแปลงใหญ่และประธานเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ  การผลิตสินค้าเกษตร อำเภอปทุมรัตน์ เป็นผู้นำแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน และทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อวางระบบเกษตรกรรมที่จะนำไปสู่การเกษตรยั่งยืน และประธานศูนย์เรียนรู้โครงการ      อันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบระดับอำเภอ ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร        การแปรรูปอาหาร ทำให้สตรีในชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

3. นางละอองดาว แสนหลวง จังหวัดนครสวรรค์ ครูบัญชีประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นเกษตรกรต้นแบบถ่ายทอดการทำปุ๋ย และสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในชุมชน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีพืชผักปลอดภัย นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนดีเด่น ปี 2564 ครูบัญชีดีเด่นระดับภาค  ปี 2564 และเป็นเกษตรกรต้นแบบ 1 ตำบล 1 ทฤษฎีใหม่ เป็นแกนนำในการทำธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักและกลุ่มแปรรูปสินค้าภายในชุมชน และทำแปลงเรียนรู้ต้นแบบการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่ และ 4. นางอัมพร สวัสดิ์สุข จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ปี 2562 เป็นผู้ผลักดันส้มโอทับทิมสยามไปสู่ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ได้แก่ มาตรฐาน GAP, OTOP 5 ดาว, มาตรฐาน Q และขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และส่งเสริมให้สตรี         ในชุมชนแปรรูปส้มโอออกจำหน่ายในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตร ต้องมีคุณสมบัติประกอบด้วย 1) มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมการเกษตรเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี 2) มีคุณธรรม จริยธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม 3) มีความสามารถในการถ่ายทอดหรือเชื่อมโยงประสบการณ์ 4) สามารถบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ หรือศูนย์เรียนรู้เป็นต้นแบบและเชื่อมโยงเครือข่ายในการส่งเสริมให้สตรีในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา 5) มีแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการทำงาน และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ และ 6)ไม่เคยได้รับรางวัลเนื่องในวันสตรีสากลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกระทรวงการพัฒนาสังคม   และความมั่นคงของมนุษย์ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated