ที่แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรเลี้ยงปลากะพงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่ที่แตกต่างกว่าใครเขาก็เห็นจะเป็นที่ “ขาวผ่องฟาร์ม” ฟาร์มเลี้ยงปลากะพงยักษ์ที่มีชื่อเหมือนนักมวยดังในอดีต ซึ่งที่มาของชื่อก็มีความหมายถึง คุณภาพ สะอาด ปลอดภัย…แต่ที่จะหยิบมาเล่าสู่กันฟังก็คือแนวคิดที่แตกต่างของ คุณประโยชน์ โสรัจจกิจ อดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่ใฝ่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก่อนลาออกจากงานมาสร้างธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งขาว และต่อมากลายมาเป็นปลากะพงขาว…
“ปัญหาของปลากะพงคือเรื่องการตลาด..ทำอย่างไรจะขยายตลาดให้เกิดผู้บริโภคที่กว้าง” คือหัวข้อการสนทนาของเราระหว่างที่คุณประโยชน์พาไปเดินชมบ่อเลี้ยงปลากะพงอันกว้างใหญ่นับ 100 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านโพธิ์ เพราะที่ผ่านมามักมีปัญหาปลาที่เลี้ยงเวลาออกสู่ตลาดพร้อมๆกันมักจะได้รับผลกระทบเรื่องราคา ซึ่งเป็นปลาไซส์ตลาดขนาด 7-9 ขีด ใช้เวลาเลี้ยง 4-5 เดือน แถมยังมีปัญหาปลากะพงจากมาเลเซียมาตีตลาดด้วย
คุณประโยชน์บอกว่าการขยายตลาดให้กว้างจะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาปลากะพงราคาตกต่ำได้อย่างยั่งยืน ตนจึงทำการเลี้ยงปลากะพงให้มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ขนาด 3-9 กิโลกรัม โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18-24 เดือน แต่ปัญหาต่อมาก็คือปลากะพงไซส์นี้หาตลาดยาก
“ผมก็เลยต้องทำการแปรรูป แล่ปลาขายเป็นชิ้นๆ พร้อมกับนำเสนอเมนูปลากะพงที่แปลกใหม่ และทำการสร้างแบรนด์ให้เกิดความน่าเชื่อถือ” คุณประโยชน์ กล่าว
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการเลี้ยงปลากะพงยักษ์ คือต้นทุนค่าจัดการเลี้ยง โดยเฉพาะค่าอาหารสำเร็จรูป สมมุติปลากะพงตัวขนาด 5 กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง 18 เดือน คุณประโยชน์บอกว่าเฉพาะค่าอาหารเฉลี่ยตกกิโลกรัมละ 120 บาท ถ้า 5 กิโลกรัมคิดเป็นเงิน 600 บาท เพราะฉะนั้นจะต้องชำแหละปลาให้ขายได้เป็นชิ้น จึงจะแก้ปัญหานี้ได้
ระหว่างการพูดคุยเราได้เดินชมบ่อเลี้ยงปลากะพงไปพลางๆ ซึ่งวันนี้ทีมงานเกษตรก้าวไกลได้มาสมทบกับเพื่อนๆสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจ แต่ว่ามาสายทำให้พลาดชมขั้นตอนการจับปลาและคัดแยกปลา แต่เพื่อนๆก็ได้ถ่ายภาพเก็บไว้ให้ และอยากได้ภาพให้อาหารปลา เพื่อจะได้เห็นตัวปลาแบบเยอะๆ แต่คุณประโยชน์บอกว่าจะให้อาหารปลาเป็นเวลา เน้นระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานฟาร์ม
ฟาร์มเลี้ยงปลากะพงมองจากห้องประชุม
“เราต้องสร้างความน่าเชื่อถือ คือระบบการจัดการฟาร์มที่ดี จะทำให้ผลผลิตปลากะพงมีคุณภาพ (Quality Management) เทคนิคการเลี้ยงปลากะพงยักษ์ให้ได้ผลผลิตที่ดีคือ สายพันธุ์ต้องดี บ่อต้องดี ปูพื้นด้วยผ้าใบกันน้ำ PE (Polyethylene) ทำให้น้ำไม่เน่าเสียง่าย มีการดูดเลนกลางบ่อ การจัดการน้ำต้องดี ต้องสะอาด คุณภาพน้ำต้องดีตลอด มีการวัดค่าคุณภาพน้ำก่อนที่จะนำมาใช้ในฟาร์ม ซึ่งผลตอบแทนในท้ายที่สุดคือได้ผลผลิตที่ดี ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในสินค้า ถือเป็นการยกระดับคุณภาพสินค้าด้วย”
ซึ่งในเรื่องการเลี้ยงปลากะพงให้เปี่ยมคุณภาพนั้น เป็นเรื่องที่เกษตรกรไทยทำได้ดี แต่ปัญหาก็คือเรื่องของการตลาด คุณประโยชน์บอกว่าต้องทุ่มเททุกวิถีทาง
“นอกจากเทคนิคการบริหารจัดการน้ำแล้ว ฟาร์มยังได้นำเทคนิคจากญี่ปุ่นมาใช้คือ การเจาะเลือดปลาแบบญี่ปุ่น ที่เรียกว่า ‘อิเคะ จิเมะ’ เพื่อนำเลือดออกจากตัวปลา ทำให้ปลามีความสด ไม่คาว และเนื้อขาวใส มีผิวสัมผัส (Texture) ที่ดีด้วย โดยคุณภาพของปลาสามารถรับประทานสดได้ เป็นเกรดปลาดิบซาซิมิ ในขณะเดียวกันฟาร์มยังมีการบ่มเนื้อปลาเพื่อทำให้รสชาติของเนื้ออร่อยมากขึ้น เพื่อขยายตลาดปลาดิบซาซิมิที่มีความอร่อยและคุณภาพไม่แพ้ปลานำเข้าจากต่างประเทศ โดยผ่านกระบวนการแล่ด้วยโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน องค์การอาหารและยา (อย.), มาตรฐานฮาลาล, มาตรฐาน GMP / HACCP”
หลังจากได้รับข้อมูลพอประมาณ คุณประโยชน์ก็บอกให้เราไปชมโรงงานที่เป็นห้องชำแหละแปรรูปปลากะพงยักษ์ ซึ่งวันนี้นับว่าโชคดีที่เราได้มาพร้อมกับคณะกรรมการมูลนิธิกองทุนนิยมไทย ที่นำโดย คุณสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานมูลนิธิที่นำทีมมาเอง
(สำหรับขั้นตอนในโรงงานชำแหละปลาไปจนถึงการบรรจุภัณฑ์และห้องเย็นจัดเก็บก่อน เราได้ถ่ายทำเป็นคลิป ระหว่างนี้ขอให้ผู้สนใจดูจากภาพไปพลางๆ ขอเรียนบอกว่า ทุกขั้นตอนคุณภาพมาตรฐานสากลเลยครับ)
เมื่อจบจากการเยี่ยมชมเราก็เดินขึ้นไปที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่นั่นมีสมาชิกผู้ศึกษาดูงานเต็มห้อง โดยคุณประโยชน์ได้บรรยายสรุปผลดำเนินงานของฟาร์ม การเลี้ยง การตลาด และตอบข้อซักถามต่างๆ
ลุงพร กับ เชฟป้าไก่
แน่นอนว่าหลังจากการการบรรยายจบลงก็ได้เวลาอาหารกลางวันพอดี วันนี้จานแรกได้จัดเสิร์ฟปลากะพงดิบซาชิมิ แบบเดียวกับปลาแซลม่อน เป็นครั้งแรกของการชิมเมนูนี้ ต้องยอมรับว่าอร่อยไม่มีกลิ่นคาวแม้แต่น้อยนิด ต่อด้วยสเต๊กปลากะพงที่เป็นจานหลัก โดยวันนี้มี “เชฟป้าไก่” มานำเสนอแต่ละเมนูว่าปรุงอย่างไร เรียกว่าได้อร่อยทั้งอาหารปากและอาหารสมองกันเลยทีเดียว
“ผมมองว่า ปลากะพงยักษ์ยังเพิ่มผลผลิต และขยายตลาดได้อีกมาก เพราะปลากะพงในบ้านเรามีปริมาณ 7,000 – 8,000 ตัน เมื่อแล่เป็นเนื้อปลาแล้วจะเหลือเพียง 4,000 ตันเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่มีโอกาสลิ้มลองรับประทานเนื้อปลากะพงยักษ์ หากได้ลองลิ้มรสเชื่อว่า ปลากะพงยักษ์ของไทย คุณภาพไม่แพ้ปลาที่นำเข้าจากต่างประเทศ” คุณประโยชน์ ย้ำปิดท้าย..ก่อนที่ทุกคนจะเดินทางกลับและรู้สึกชื่นชมเกษตรกรไทยผู้มุ่งมั่นคนนี้
อนึ่ง ปลากะพงยักษ์ของขาวผ่องฟาร์ม มีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง รวมทั้งร้านอาหารชื่อดัง หรือตรวจสอบได้ที่ https://kaopongfarm.com/ https://www.facebook.com/kaopongfarm/?ref=page_internal อย่าลืมอุดหนุนปลากะพงยักษ์จากเกษตรกรไทยนะครับ