วันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พร้อมด้วย นางสาวภุมรี เพ็งกลาง หัวหน้าส่วนงานเลขานุการ นายภาณุพันธ์ บำรุงสุข หัวหน้าส่วนจัดการหนี้ 1 นายสิทธิชัย ล้อตระกูล พนักงานอาวุโส ส่วนนโยบายและแผน ได้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 11/2566 โดยเลขาธิการได้นำเสนอวาระพิจารณาจร วาระที่ 13 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ให้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธกส. ธ.ออมสิน ธ.อาคารสงเคราะห์ และ ธ.เอสเอ็มอี
สาระสำคัญที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบครั้งนี้
- เห็นชอบให้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 65
- เห็นชอบให้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง จัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 52,621 ราย โดยให้เกษตรกรรับหนี้เงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ส่วนเงินต้นอีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ปิดบัญชีแต่ละราย แต่ละสถาบันเจ้าหนี้เป็นจำนวนเท่าใดให้ธนารารเจ้าหนี้ทั้ง 4 แห่ง ขอชดเชยในภายหลัง
- การขอเงินชดเชยที่เกษตรกรในโครงการได้ชำระหนี้ปิดบัญชีในแต่ละปี ให้ธนาคารของรัฐทั้ง 4 แห่ง ร่วมกับ กฟก.จัดทำแผนขอรับเงินชดเชย โดยให้บรรจุในแผนปีงบประมาณประจำปีตามจำนวนที่เกษตรกรได้ปิดบัญชีในปีนั้น ๆ
- การดำเนินโครงการตามที่กำหนดไว้ หากตรวจสอบข้อมูลในภายหลังแล้วพบว่าเกษตรกรรายใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องเป็นไปตามแนวทางที่เสนอตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 65 ให้เกษตรกรได้รับสิทธิปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้จำนวนรายและกรอบวงเงินชดเชยตามที่เสนอ และให้โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมีผลตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติในครั้งนี้
นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการกองทุนฯ กล่าวว่า เมื่อ ครม. ได้เห็นชอบตามที่สนง.เสนอแล้ว ขั้นตอนต่อไป เกษตรกรจะต้องไปทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ คาดว่าจะทำสัญญาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ สนง. กฟก. และสถาบันเจ้าหนี้ทั้ง 4 แห่ง ได้กำหนดแนวทางปฎิบัติไว้เรียบร้อยแล้วซึ่งมี 11 ขั้นตอน อยู่ระหว่างการประชุมซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่ทั้งในส่วนของ กฟก. และเจ้าหนี้คาดว่าจะสามารถชี้แจงและดำเนินการให้กับพี่น้องเกษตรกรได้สำเร็จตามเป้าหมาย