นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวถึง การส่งเสริมเกษตรกรผลิตทุเรียน GAP เพื่อการส่งออก ว่า เรื่องของ GAP ผู้ปลูกผลไม้ในภาคตะวันออก ถ้าเป็นไม้ผลที่ส่งออกโดยเฉพาะไม้ผลที่จะต้องผลิตเพื่อการส่งออก เราส่งเสริมให้เกษตรกร ได้มีใบรับรองมาตรฐาน GAP เพราะมีความสำคัญ ผู้รับซื้อในต่างประเทศ คู่ค้าที่เราส่งออกโดยเฉพาะประเทศจีน ระบุว่า เกษตรกรผลิตผลไม้ที่ส่งออกไปยังประเทศจีน จะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน GAP และล้งที่รวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออกจะต้องเป็นล้งที่ได้มาตรฐาน GMP เป็นข้อมูลที่ทางไทยกับจีน ได้จัดทำข้อตกลงพิธีสารกับมีผลบังคับตั้งแต่ 1 พ.ค. 2548 มีการคุยเรื่องมาตรฐานตลอดเพราะฉะนั้นมาตรฐาน GAP สำหรับคนทำสวนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
“กรมส่งเสริมการเกษตร เรามีหน้าที่ช่วยในการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรเพื่อที่จะให้เข้ารับมาตรฐานอยู่แล้ว ในทุกๆ ปี หน้าที่เราคือการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เขาได้รับรองมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ ฮาลาล หรือมาตรฐานอื่นๆ ตามที่ผู้บริโภคหรือคู่ค้าของเกษตรกรต้องการอยู่แล้ว สำหรับปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตร มีกิจกรรมในการพัฒนาสินค้าสู่มาตรฐาน GAP อยู่หลายกิจกรรม เริ่มแรกตั้งแต่เราพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้เรื่องของการพัฒนาระบบมาตรฐาน กิจกรรมอบรมเกษตรกรเพื่อเข้าสู่มาตรฐาน GAP และศึกษาดูงาน เรามีการตรวจ ติดตาม การให้คำปรึกษา แนะนำ การตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นให้กับเกษตรกรด้วย มีการสนับสนุนและจัดการผลผลิตสินค้าเกษตร GAP ในขั้นต้นไว้ให้ และมี MOU ระหว่างกรมวิชาการเกษตรผู้ออกใบรับรองกับกรมส่งเสริมการเกษตรผู้เตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร เป็นการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น และมีข้อตกลงว่า เราจะดำเนินการเท่าไหร่โดยพืชชนิดไหนบ้าง มีการประชุมหารือกัน หลังจากนั้นกำหนดเป็นแผนในการออกตรวจรับรองให้กับเกษตรกร เป็นการดำเนินการโดยสองกรมในกระทรวงเกษตรฯเพื่อช่วยเกษตรกร ขั้นตอนแรกจึงเป็นเรื่องของกรมส่งเสริมการเกษตร นำเกษตรกรที่ประสงค์จะขอใบมาตรฐาน GAP มาเข้าสู่การอบรมก่อน หลังจากทำผ่านข้อมูล ออกตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ไปสู่กรมวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตรได้ข้อมูลมา ก็มาจากการทำแผนออกตรวจประเมินเพื่อที่จะออกใบรับรอง GAP ให้กับเกษตรกร”
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ยังยกตัวอย่างว่า ทุเรียนในภาคตะวันออก มีอยู่ 2 หมื่นกว่าราย พื้นที่ 3 แสนกว่าไร่ ข้อมูล ณ 28 มกราคม 2566 เรามีเกษตรกรที่ได้รับใบ GAP ทั้งหมดประมาณ 25,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 80 อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในระหว่างการขอใบรับรอง บางแปลงยังไม่ให้ผล ก็ยังไม่ต้องขอ การขอใบรับรองต้องตรวจผลผลิตด้วยดังนั้นเกษตรกรที่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต ก็จะเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน
“GAP มีความสำคัญต่อการส่งออกทุเรียนและผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก เพราะว่าประเทศไทยเปิดการค้าเสรี โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งไปประเทศจีน ทางจีนกับไทยได้ทำข้อตกลงพิธีสารระหว่างไทยกับจีน ได้กำหนดมาตรการในเรื่องของการจัดการศัตรูพืช สารเคมีตกค้าง โดยผลไม้จากจีนมายังไทยมีแอปเปิ้ล แพร์ (สาลี่) พีช ส้ม พุทรา และองุ่น และส่งออกจากไทยไปจีน 5 ชนิด คือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ และลำไย โดยเฉพาะ 5 ชนิดนี้ เกษตรกรจะต้องมีใบรับรองคุณภาพ GAP ต้องมาจากสวนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนด้วย ล้งที่ส่งออกจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ปัจจุบันมีการขยายสินค้าเพิ่มเป็น 13 ชนิด คือเพิ่ม สัปปะรด มะพร้าว กล้วย ขนุน เงาะ ลองกอง มะขาม เสาวรส โดยเริ่มตั้งแต่ในปี 2562 ทุกสินค้าที่ส่งไปจีน เกษตรกรต้องมีใบรับรองแหล่งผลิต GAP ทางเราจะส่งใบรับรองไปให้ประเทศจีน เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่ยังไม่มีใบรับรอง จะต้องมีใบรับรอง GAP อยู่ที่สวนถึงจะสามารถส่งสินค้าออกได้ ผู้ประกอบการที่เป็นล้ง GMP เขาก็จะไปซื้อสินค้าจากเกษตรกรที่มีใบรับรอง GAP มันเป็นเรื่องที่ต้องเชื่อมต่อกันระหว่างตั้งแต่สวน ไปถึงจุดรวบรวมและจุดส่งออก จะมีใบเครื่องหมาย Q หรือใบ GAP ปรากฏอยู่ ณ แหล่งรับซื้อด้วย“
ส่วนขั้นตอนการขอรหัส GAP สำหรับเกษตร/ปัจจุบันมีการใช้รหัส GAP ใหม่ เกษตรกรต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า ตามประกาศของของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เรื่อง กำหนดรหัสในการใช้และแสดงเครื่องหมายในการรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร ที่เริ่มใหม่และมีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรได้วางแผนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนรหัสใหม่ของ มกอช. โดยกรณี แปลงใหม่ที่ยื่นขอรับรองแปลง GAP และแปลงเก่าที่ขอยื่นต่ออายุ GAP นั้น กรมวิชาการเกษตรได้เปลี่ยนรหัสให้เป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมดแล้ว ส่วนแปลงเก่าที่ GAP ยังไม่หมดอายุ เกษตรกรสามารถติดต่อสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรแต่ละเขตที่อยู่ในพื้นที่หรือที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในจังหวัดก็ได้ในเขตพื้นที่ เพื่อยื่นขอเปลี่ยนเป็นรหัสรูปแบบใหม่และรหัสนี้จะถูกส่งไปยังจีนด้วยเพราะมีความสำคัญ โดยปกติเกษตรกรทางภาคตะวันออกได้รับการประสานและติดต่อจากทั้ง 2 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการเกษตร หรือกรมส่งเสริมการเกษตร ที่อยู่ในพื้นที่ก็ช่วยในการที่จะส่งข้อมูลข่าวสารให้เกษตรกร ส่วนการขอใบรับรองเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ก็เข้ามาที่สำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อยื่นคำร้องเอาไว้ ที่จะเข้าอบรมในการเตรียมความพร้อมในการขอใบรับรองแต่ละปี เราทำเป็นงานประจำอยู่แล้วเพื่อที่จะส่งเสริมเกษตรกรได้ใบ GAP ทุกแปลงที่มีการผลิตพืชอาหาร
“ในส่วนของเกษตรกรโดยเฉพาะทุเรียน ตัวเกษตรกรมีความสำคัญ ถ้าผลิตภายในประเทศ ก็ต้องได้รับความเชื่อมั่นว่าผลผลิตนั้นมีคุณภาพและไม่ปนเปื้อน ใบ GAP เป็นส่วนบ่งชี้ว่า คุณได้มีการจัดการและอธิบายได้ว่า ใส่อะไรลงไปในผลผลิตตัวนั้นได้ ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตตามระบบ GAP 1.มีการจดบันทึกตั้งแต่เริ่มใส่ปัจจัยการผลิตลงไปในสวนเพื่อที่จะลดต้นทุนตัวเอง ซึ่งมีความสำคัญสำหรับเกษตรกร สามารถที่จะคำนวณต้นทุนได้โดยการจดบันทึกว่าเขาใส่อะไรลงไปในแปลงบ้างและเขาจัดการสวนอย่างไร เป็นการบันทึกข้อมูล ถ้าข้อมูลนี้ถูกส่งต่อให้กับผู้บริโภคได้เห็น ผู้บริโภคก็จะทราบว่า ผลผลิตที่รับประทานเข้าไปนั้นปลอดภัยจากดูแลรักษาแบบไหนตามที่เขาจดเอาไว้ เป็นการส่งต่อข้อมูล การค้าปัจจุบันเราจะทำเป็นคิวอาร์โค้ด เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคได้เห็นการดูแล รักษาสวนในส่วนที่ตัวเองกินเข้าไปด้วย และสภาพแวดล้อมจะดีขึ้นด้วยการจัดการระบบ GAP จะมีการควบคุมเป็นระยะและทำให้เกษตรกรตระหนักรู้ว่าการเก็บวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร สิ่งที่ใช้ที่ปนเปื้อน จะต้องจัดเก็บอย่างไร เก็บส่วนที่เป็นขยะหรือสิ่งที่เหลือใช้ในสวนออกไปเก็บอย่างถูกต้อง ซึ่งอยู่ในข้อกำหนดการผลิตแบบ GAP อยู่แล้ว เป็นข้อดี สามารถรู้ต้นทุน และกำหนดต้นทุนตัวเองได้ สามารถที่จะดูแลสภาพแวดล้อม และเรื่องของการปนเปื้อนสิ่งอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการดูแลรักษาสวน ก็อยู่ในข้อกำหนด GAP ด้วยเช่นเดียวกัน ในส่วนของเกษตรกร มีการบันทึกวันเก็บเกี่ยว วันดอกบาน ซึ่งเป็นการรักษาคุณภาพด้วยเช่นเดียวกัน จะกำหนดอยู่ในมาตรฐานอยู่แล้วว่า เกษตรกร ต้องปฏิบัติอย่างไร ถึงแม้ว่าอยู่ในระหว่างการขอใบรับรอง GAP แต่การปฏิบัติดูแลในสวน ก็จะทำให้เกษตรกรปลอดภัย ผลผลิตมีคุณภาพผู้บริโภค ก็จะได้รับประทานของที่มีคุณภาพ และปลอดภัยด้วย” ผอ. สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวทิ้งท้าย