นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวถึง มาตรการบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด)และแผนบริหารจัดการไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2566 ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ว่า การบริหารจัดการผลไม้ ปี 2566 ของภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี2565 ตามมติคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้(ฟรุ้ทบอร์ด) คือ ให้จังหวัดวางแผนการบริหารจัดการผลไม้ แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2565 – 2570 และในเชิงปริมาณโดยปรับสมดุลอุปสงค์ อุปทานมุ่งเน้นการเชื่อมโยงของข้อมูลเพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกคือแผนเผชิญเหตุที่จังหวัดดำเนินการ แผนเผชิญเหตุที่จังหวัดไม่สามารถดำเนินการได้นำเข้าสู่ที่ประชุมฟรุ้ทบอร์ด (Fruit Board) เพื่อพิจารณาหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า
ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้กล่าวถึงประเด็นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ว่า ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3( สสก.3 ระยอง) ทำการส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP และอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร พัฒนาสินค้าไม้ผลอัตลักษณ์สู่กระบวนการรับรองสินค้า GI และตรวจสอบย้อนกลับ
รวมทั้งส่งเสริมการอารักขาพืชเพื่อเป็นการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรไม่ให้มีการปนเปื้อน ในเรื่องของโรคแมลง ในการส่งออกหรือขายให้กับผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีการเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องของการอารักขาพืชเข้าไป การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การจัดการสวนเพื่อให้ลดการระบาดของศัตรูพืช
“ต่อมาคือระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งเรื่องนี้สำคัญทั้ง 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ดำเนินการโดยสำนักงานเกษตรทั้ง 3 จังหวัด และภาคีเครือข่ายเป็นระยะกลางน้ำ เราจะต้องดำเนินการประชุมเพื่อบูรณาการ 1. การเฝ้าระวังทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด บริการตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งในทุเรียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรก็จะกำหนดมาตรฐานตัวบ่งชี้ความแก่ของทุเรียนไว้ อาทิ หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32 % แป้ง,ชะนี พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30 % แป้ง, กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 % ดังนั้นเราต้องเฝ้าระวังและตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งให้กับเกษตรกรก่อนการเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสม 2) ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ผลไม้ไทย 3) จัดทำจุดกระจายสินค้า ส่งเสริมการขายออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคภายในประเทศสามารถได้กินของที่ดีจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคโดยตรง 4 ) ส่งเสริมการจัดทำ QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนหลัง ว่าผลผลิตที่บริโภคเข้าไปหรือได้รับนั้นมาจากส่วนไหนดูแลและปฏิบัติรักษาสวนอย่างไร”
ส่วนระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ร่วมกับหน่วยงานภาคี กรมพัฒนาที่ดิน ภาคเอกชนเข้ามา 1) ให้คำแนะนำการเตรียมต้นหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต จะต้องทำให้ต้นอุดมสมบูรณ์เพื่อจะได้แข็งแรง ไม่มีการระบาดของโรคด้วยเทคโนโลยี ที่เหมาะสม การจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อเตรียมความพร้อมในฤดูกาลต่อไป 2) มุ่งส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่ตกเกรดสรุป ประเมินผล และจัดทำแนวทางพัฒนาในปีต่อไป
นางอุบล กล่าวต่อว่า ในส่วนการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ระยะก่อนเก็บเกี่ยว กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีทีมที่ทำของเรื่องของข้อมูล เจ้าหน้าที่ที่อยู่ทั้งสำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัด ร่วมกับผู้นำเกษตรกรที่จะเข้าไปเก็บข้อมูล ประมาณการผลผลิต ทั้งสายพันธุ์ ทั้งช่วงเวลา เกรด คุณภาพ ข้อมูลที่จะดำเนินการทั้งปริมาณ และซัพพลายส์ เพื่อเอามาดำเนินการบริหารจัดการเน้นไปในเรื่องของการจัดทำข้อมูล มีการส่งเสริมพัฒนาท่องเที่ยววิถีเกษตรเอาไว้ สำหรับไว้กระจายผลไม้ให้สู่ผู้บริโภค
ส่วนระยะเก็บเกี่ยว จะมีการประสานกับภาคี สหกรณ์ จุดระบายสินค้า เปิดล้งเพื่อให้สมาชิกที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ หรือเกษตรกรทั่วไป เข้ามาใช้ในการบริการที่จะส่งสินค้า ส่วนพาณิชย์จังหวัด กรมการค้าภายใน มาช่วยจับคู่ในทางธุรกิจออนไลน์ หรือแม้กระทั่งไปรษณีย์ไทย ก็มาช่วยบริการ การที่จะส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคภายในประเทศ
“ส่วนระยะต่อมา คือระยะในช่วงเก็บเกี่ยว เราจะมีการประสานกับผู้ว่าฯในแต่ละจังหวัด จะจัดงานเทศกาลผลไม้ขึ้นมา เพื่อที่จะนำของดีๆ ที่เกษตรกรเราดำเนินการและผลิตดีๆออกมาสู่มือผู้บริโภค โดยผ่านเทศกาลผลไม้ของประจำปีของจังหวัด เป็นการส่งเสริมการขายภายในประเทศ และการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่อยู่นอกแหล่งผลิต”
ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวต่อว่า ส่วนระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ภาคตะวันออกจะมีการประชุมเพื่อจัดทำข้อมูลว่าที่ผ่านมา มีปัญหาอุปสรรคอะไร และมีการประเมินผลเพื่อจะนำองค์ความรู้หรือสิ่งที่เป็นเคสในปีนี้ไปปรับปรุงและปรับใช้ในปีต่อไป เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ
“ปี 2566 เราได้นำบทเรียนจากปี 2565 มาใช้ประกอบการในแผนการบริหารจัดการผลไม้ ปีนี้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำข้อมูลพยากรณ์ครั้งที่ 2 ไปแล้ว ทางจังหวัด ได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปดำเนินการบริหารจัดการผลไม้ของจังหวัด โดยทั้งนี้ต้องผ่านความเห็นชอบของผู้ว่าฯ ก่อน จึงจะได้นำแผนเหล่านี้ไปดำเนินการต่อ“
ส่วนการบูรณาการร่วมมือของทั้ง 3 จังหวัดในฤดูกาลนี้เป็นอย่างไรและมีการกำหนดข้อปฏิบัติร่วมกันอย่างไรบ้างนั้น ผอ. อุบล กล่าวว่า เรามีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวประจำปีเป็นรายภาค โดยภาคตะวันออกโดยเฉพาะทุเรียน การกำหนดวันเก็บเกี่ยวของทุเรียนภาคตะวันออกในปี 2566 กำหนดว่า ทุเรียนพันธุ์กระดุมและพวงมณีในปี 2566 กำหนดวันเก็บเกี่ยว วันที่ 10 มีนาคม 2566 ทุเรียนพันธุ์ชะนี กำหนดวันเก็บเกี่ยววันที่ 20 มีนาคม 2566 และทุเรียนหมอนทอง กำหนดวันที่ 15 เมษายน 2566 ประกาศเอาไว้โดยคำนวณจากการบานของดอกทุเรียน ในห้วงที่ผ่านมาว่า ถ้าถึงวันดังกล่าวนี้ จะสุกแก่พอดีกับการบริโภค แต่ทั้งนี้ในการเก็บเกี่ยวทุเรียน จะมีปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้ทุเรียนแก่เร็วขึ้น เช่นการไว้จำนวนลูกของแต่ละต้น สภาพของใบ ความอุดมสมบูรณ์ สภาพดินฟ้าอากาศที่แห้งแล้ง ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น
“นอกจากจะนับวันดอกบานแล้ว ถ้าเกษตรกรคนใดมีการพิจารณาแล้วว่า ทุเรียนในสวนพร้อมเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ยังไม่ถึงการเก็บเกี่ยวในแต่ละสายพันธุ์ ก็สามารถนำตัวอย่างทุเรียนในสวนมาตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่อยู่ใกล้บ้าน หรือตรงจุดที่มีหน่วยบริการตามแต่จังหวัดได้กำหนดเอาไว้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องควบคุมให้ผู้บริโภคได้รับประทานทุเรียนจากภาคตะวันออกแบบมีคุณภาพและอร่อยดังนั้นจึงมีการกำหนดเรื่องของวันเก็บเกี่ยวเอาไว้ “
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ยังเน้นว่า อีกเรื่องหนึ่งเป็นมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อน ด้อยคุณภาพไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต โดยใช้อำนาจของฝ่ายปกครองโดยผู้ว่าฯ แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสกัดกั้นทุเรียนที่จะออกไปจาก 3 จังหวัด ซุ่มตรวจเพื่อไม่ให้มีการลักลอบในการตัดทุเรียนแล้วยังไม่สุกออกไปจำหน่ายซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียในเรื่องของการที่จะมีการฟ้อง มีการแจ้งความเรื่องของการปลอมปน เกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้บริโภคกับผู้ขาย จึงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
และยังมีอีกมาตรการหนึ่งคือให้การบริการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนให้กับเกษตรกรซึ่งก็คือ มาตรการตรวจก่อนตัดทั้ง 3 จังหวัด รวมทั้งการสำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตทุกจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดก็ออกสุ่มกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในเขตรับผิดชอบออกมาช่วยกัน จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ในจังหวัดและระดับภาค ผลผลิตทั้ง 3 จังหวัด ไม่สามารถแยกได้ว่าทุเรียนเป็นของจันทบุรี ระยอง หรือ ตราด ดังนั้นต้องบริหารจัดการร่วมกันคือ สร้างข้อตกลง และใช้มาตรการเดียวกัน เพื่อนำมาควบคุม และสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค
ส่วนมาตรการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) และ มาตรการประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนในปีนี้เป็นอย่างไรนั้น นางอุบล กล่าวว่า ของปีนี้ได้กำหนดไว้ว่า ทุกสำนักงานเกษตรอำเภอจะให้บริการในการตรวจหาเปอร์เซ็นต์แป้งให้กับเกษตรกร เกษตรกรจะทราบว่าดอกบานเมื่อไหร่ในแต่ละชนิดสายพันธุ์ ดังนั้นจะมีการคำนวณจากแปลงอยู่แล้วว่า ทุเรียนสุกแก่แล้วหรือยัง ดังนั้นตัวเกษตรกรเป็นอีกชั้นหนึ่งในการจัดทำข้อมูลก่อนที่จะจำหน่าย ก่อนที่จะตัด เมื่อเกษตรกรรู้ว่าตอนนี้ทุเรียนแก่แล้วแต่ยังไม่ถึงกำหนดวันที่ประกาศไว้ของจังหวัดหรือของภาค ก็นำมาตรวจให้หายสงสัย
“โดยประมาณแล้วทางวิทยาศาสตร์ ถ้าวันนี้ตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งได้ 30 % ของหมอนทอง นับไปอีก 5 วัน เปอร์เซ็นต์แป้งจะขึ้นอย่างน้อยเฉลี่ยประมาณ 1 % ต่อวัน เราก็จะคำนวณได้ว่าอีก 5 วัน จะขึ้นอีก 5 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรได้อีกชั้นหนึ่ง เป็นมาตรการอำนวยความสะดวกให้และช่วยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบ”
นอกจากนี้จะมีการสุ่มดู บริการเพื่อที่จะให้มือตัด มือคัดได้มีความรู้ ให้บริการ ให้ความรู้และสุ่มตรวจในสิ่งที่ตัดมา ช่วยให้คำแนะนำทั้งผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกคือล้ง และเกษตรกร และมือตัด มือคัด ที่เข้าไปในที่พื้นที่ ทุกส่วนต้องให้ความร่วมมือกัน ปีนี้ทำแบบนี้ครอบคลุมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานภาคีที่อยู่ภายในพื้นที่ จะช่วยกันภายใต้ความร่วมมือทั้งหมดนี้โดยมีแกนหลักคือผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัดจะเป็นเหมือนเซ็นเตอร์ใหญ่ในการสั่งการและอำนวยการ
ส่วนการใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า เป็นเรื่องของปลายทาง ทั้ง 3 จังหวัด จะมีการออกประกาศในการควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยในประกาศจะกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายทั้งกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค เอาไว้ เพื่อให้ผู้ขายหรือ ผู้ซื้อ หรือผู้นำส่งขนส่งทุเรียนไปเพื่อขายจะได้ทราบ มีกฎหมาย อยู่ 2 ตัว ที่ใช้ป้องปรามได้ คือ 1. กฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อ หลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผอ. อุบล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อทุเรียนแล้วแม่ค้าบอกว่า ทุเรียนอร่อยและแก่ รับประทานได้ ปรากฏว่าเมื่อไปถึงบ้าน แกะทุเรียนออกมาแล้วอ่อน รับประทานไม่ได้ มีหลักฐานอยู่ในมือ คือ ทุเรียนอ่อน แม่ค้าที่ขายให้ มีเจ้าทุกข์ มีของกลาง
ส่วนกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 บัญญัติว่า ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษแรง ส่วนใหญ่เมื่อจับ หรือปรับหรือจับกุมแล้ว จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด จึงมีการรณรงค์และสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรทราบว่า การที่เรานำสินค้าไม่ตรงกับสภาพที่เรานำไปขาย เป็นความผิด