“ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทางเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม ได้เข้าไปประสานเพื่อขอการสนับสนุนทั้งในด้านความรู้ และแนวทางการดำเนินงาน ตั้งแต่มีการก่อตั้งในปี 2558”
นางสาวพิชญาภา ณรงค์ชัย ตัวแทนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย บอกกล่าวระหว่างการบรรยายสรุป ในโอกาสที่นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. และคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน
เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม ถือเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำโมเดล Design & Manage by Area (D&MBA) หรือโครงการบูรณาการการออกแบบ-การจัดการเชิงพื้นที่ของ ธ.ก.ส. ไปปรับใช้จนประสบผล
โดย นายมานพ จินาไหม ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจชะลอตัวที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างมาก ธ.ก.ส. ร่วมกับผู้นำเครือข่ายฯ ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับคนในชุมชน ควบคู่กับมาตรการที่ ธ.ก.ส. เข้าไปดูแล เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายบุคคล การสร้างวินัยด้านการเงินและสร้างการ มีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน และสนับสนุนการเติมองค์ความรู้ ด้านกระบวนการผลิต การแปรรูป และการทำเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model เพื่อพัฒนาเกษตรกรไปสู่ Smart Farmer รวมถึงการเชื่อมโยงเกษตรกรหัวขบวนในพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้
“ธ.ก.ส. นั้นพร้อมเติมทุนสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อเสริมสภาพคล่องและการลงทุนเกษตรกร อันนำไปสู่การจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้สินในชุมชนอย่างยั่งยืน”นายมานพ กล่าว
ขณะที่ พิชญาภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันทางเครือข่ายฯ มีเกษตรกรสมาชิกรวมจำนวนกว่า 1,013 คน และทั้งหมดได้มีการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมีไปสู่เกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ในผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท อาทิ การปลูกข้าว เลี้ยงปลานิล เลี้ยงหมูดำเหมยซาน และการแปรรูปที่มีผลิตภัณฑ์กว่า 35 รายการ เช่น ข้าวเหนียวเคลือบสมุนไพร 7 วัน ข้าวหอมมะลิเคลือบสมุนไพร เนื้อหมูดำออร์แกนิก แคบหมู ปลานิลตัดแต่ง และ กบถอดเสื้อ เป็นต้น
“ การทำเกษตรเคมีเป็นการทำเกษตรที่มีต้นทุนสูงมาก แม้จะได้ผลผลิตมาก แต่เมื่อมาหักลบต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรน้อยมาก แต่การทำเกษตรอินทรีย์นั้น ตรงกันข้าม เพราะทางเครือข่ายจะเน้นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่า เรานำสิ่งที่มีมาสร้างรายได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีรายได้มาก เกิดความสุขกาย สุขใจ สบายกระเป๋า อีกทั้งนำไปสู่การปลดหนี้ได้สำเร็จ”
โดยในการผลิตและเกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model ที่ทางธ.ก.ส. ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนนั้น เริ่มจากกิจกรรมทางการเกษตรที่ชุมชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การปลูกข้าว เลี้ยงปลานิลและกบนา มีการผลิตปุ๋ยและอาหารสัตว์ โดยใช้ของเหลือจากการผลิตอื่น ๆ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต เช่น การนำรำข้าวจากการสีข้าวมาผสมก้างปลานิลตากแห้งและ ใบหม่อน ผลิตเป็นอาหารของหมูดำ และการนำมูลวัวและมูลสุกรดำมาเลี้ยงไส้เดือน เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงการแปรรูปผลผลิต เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้า เช่น การนำเกล็ดปลานิลอินทรีย์มาแปรรูปเป็นเกล็ดปลาทอดกรอบจำหน่าย การทอผ้าพื้นเมืองแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่นำมาความสำเร็จนั้น พิชญาภา กล่าวว่า จะประกอบด้วย การจดบันทึกด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นฐานข้อมูลที่นำไปใช้ในการผลิต การบริหารจัดการ การควบคุมต้นทุน และการสร้างความมุ่นใจให้กับผู้บริโภค ด้วยการขอรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand จากกรมประมง ซึ่งมีสมาชิกได้รับการรับรองแล้ว 197ครัวเรือน และอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนอีก 675 ครัวเรือน พร้อมกันนี้ยังได้รับรองฟาร์มมาตรฐานปศุสัตว์จากกรมปศุสัตว์ การรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ จากกรมการข้าว และอีกประการสำคัญคือ การสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค ด้วยการใช้ช่องทางผ่านออนไลน์ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน Facebook ในชื่อ ทุ่งต้อมเกษตรอินทรีย์ และการเข้าร่วมการประกวดต่าง ๆ ที่มีการจัดเกี่ยวกับเรื่องเกษตรอินทรีย์
“ จากการได้รับรองมาตรฐานต่าง ๆ จากการเป็นที่รู้จักผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการชนะการประกวด ทำให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค วันนี้การจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ของทางเครือข่าย จึงไม่มีปัญหา เพราะมีโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ เข้ามารับซื้อ และมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ผลผลิตที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ วันนี้ กล่าวได้ว่า ตลาดต้องรอการผลิต”พิชญาภา กล่าว
จากแนวคิดการพัฒนาที่เน้นใช้เรื่องของ มั่นคง มั่งคั่ง เป็นเสาเข็มหลักในการบริหารงาน โดยมุ่งเน้นความสุขและความพึงพอใจของสมาชิก ผ่านหลัก 6 ใจ ได้แก่ สานพลังใจ เชื่อใจ ไว้วางใจ จริงใจ ได้ใจ และมั่นใจ และยึดหลักการตลาดนำการผลิต มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต วันนี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม มีเงินทุนในการหมุนเวียนในระบบการผลิตกว่า 1,000,000 บาท ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเดือนละกว่า 10,000 บาท ทำให้มีรายได้อย่างเพียงสำหรับการดำรงชีวิต และการนำไปปลดหนี้สินที่เคยมีได้อย่างประสบผลสำเร็จ
ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้น ธ.ก.ส. จึงชูให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งต้อม เป็นต้นแบบของการนำร่องโมเดล D&MBA ที่ออกแบบการบริหารจัดการหนี้โดยคนในชุมชน ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ โดยพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อช่วยให้เกิดการยกระดับการผลิต ปรับวิถีเกษตรเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ตามหลัก BCG Model เติมความรู้พัฒนา Smart Farmer สู่การเป็นเกษตรหัวขบวน พร้อมเติมทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพและสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อันนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในชุมชนอย่างยั่งยืน