นายวสันต์ รื่นรมย์ เจ้าของ “ฟาร์มรื่นรมย์” เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำการเกษตรโดยใช้ “เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” จากการสะสมประสบการณ์การทำงานในบริษัทเอกชนเกี่ยวกับด้านการเกษตร ก่อนตัดสินใจลาออกจากบริษัทเอกชนในปี 2559 เพื่อกลับมาประกอบอาชีพทำสวนทุเรียนสานต่อจากครอบครัว ซึ่งได้ทำสวนทุเรียนอยู่ก่อนแล้ว และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนทุเรียน ในพื้นที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 30 กว่าไร่และที่จันทบุรีอีกเกือบ 20 ไร่ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมกับการเกษตรได้อย่างสมดุล
ในปี 2560 เขาเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรเต็มตัวด้วยวัย 36 ปี ตั้งใจนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกษตรจากบริษัทเอกชนที่ทำงานด้านการเกษตรที่ได้สั่งสมมาตลอด 15 ปี นำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการผลิตทุเรียนในสวนของตนเอง โดยปรับรูปแบบการผลิตทุเรียน จากแบบเดิมที่เคยทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ ที่ปลูกทุเรียนแบบพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก มาเป็นรูปแบบการบริหารจัดการสวนทุเรียนโดยจัดการสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม มีการนำข้อมูลผลการวิเคราะห์สภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละปีมาประกอบการวางแผนการผลิตทุเรียนในแต่ละฤดู รวมทั้งใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการเพิ่มผลผลิต จนทำให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำสวนทุเรียนแบบเกษตรสมัยใหม่
วสันต์ กล่าวว่า “อาชีพทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวผมอยู่แล้ว แต่ตอนแรกผมไปเรียนหนังสือก่อน เมื่อเรียนจบก็หาประสบการณ์ เข้าทำงานบริษัทกับเอกชนของต่างชาติ ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีเกษตร มีนักวิชาการจากต่างประเทศมาให้ความรู้ด้านธาตุอาหารและเรื่องปุ๋ย จึงเอาความรู้ประสบการณ์ที่ได้มาพัฒนาต่อยอดใช้กับสวนของเรา เอาแนวคิดใหม่ ๆ เรื่องการจัดการสวนเข้ามาใช้ จากเมื่อก่อนสวนของครอบครัวทำแบบเดิม ๆ เราก็เปลี่ยนวิธีรดน้ำจาก ”หัวน้ำมาก” เป็น “มินิสปริงเกอร์“ ใช้น้ำน้อยลง ไม่ใช้น้ำมาก น้ำไม่ไหลบ่า ถ้าเป็น ”หัวน้ำมาก” เปิด 10 นาที น้ำก็เจิ่งนอง แต่ถ้าเป็น ”หัวน้ำน้อย” น้ำไม่ไหลบ่า ช่วยประหยัดน้ำไปได้มากทีเดียว”
จากนั้นเขาเล่าถึงเทคนิคในการทำสวนทุเรียนให้ประสบผลสำเร็จต่อว่า สมัยทำงานบริษัทเอกชน ตนเห็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าให้ปุ๋ยทางระบบน้ำ ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องของการประหยัดเวลา การเจริญเติบโต ผลผลิตเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยลดลง
“จากนั้นผมก็มาศึกษาต่อเรื่องของ “สถานีตรวจวัดอากาศในสวน” ทำให้สามารถตรวจสอบความชื้นอากาศ อุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิดิน ความชื้นดิน อุณหภูมิใบ ค่าศักย์การคายน้ำ (VPD) และค่าความเข็มแสง อย่างเช่น รดน้ำไปแล้ว ความชื้นดินเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ วันถัดมาใช้น้ำไปเท่าไหร่ บ่าย 2 ของแต่ละวันที่อากาศร้อนที่สุด ความชื้นอากาศของเราอยู่ประมาณเท่าไหร่ ถ้าต่ำมากจะได้วางแผนรับมือแก้ไข “สถานีตรวจสอบอากาศ” ทำให้เห็นว่าความชื้นระหว่างกลางคืนกับกลางวันต่างกันมาก ดังนั้นในแต่ละวันถ้าเราสามารถโกงช่องว่างของความชื้นอากาศระหว่างวันได้แคบลงก่อนมีผลต่อการทำงานของต้นทุเรียน โกงความชื้นเพื่อรักษาสมดุลความชื้นจากวันที่ร้อนมาก จากความชื้นเหลือ 40 % อาจกลายเป็น 45 % ซึ่ง 5 % ที่เราโกงมาได้ ก็ทำให้ต้นไม้มีความสดชื่นมากขึ้น”
วสันต์ ยังบอกว่า พื้นที่สวนของตนอากาศไม่ค่อยถ่ายเท จึงสร้างลมจำลองขึ้นมาในสวน ด้วยการติดตั้งพัดลมเล้าไก่ไว้ในสวนทุเรียน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ เมื่อพัดลมทำงานก็จะไล่ความชื้นของอากาศออกจากสวน เมื่อความชื้นออกจากสวน ปากใบก็จะเริ่มคายน้ำ รากก็จะเริ่มดูดกินน้ำได้เร็วขึ้น ทำให้ทุเรียนในสวนตื่นนอนได้เร็วขึ้นกว่าเดิม
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า ”วสันต์“ เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำการเกษตรโดยใช้ “เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” มาใช้ในการพัฒนาสวนทุเรียนของเขาจนประสบผลสำเร็จ
นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวถึงบทบาทของกรมส่งเสริมการเกษตร ว่า มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใบ GAP ซึ่งเป็นการรับรองการปฏิบัติการเกษตรที่ดีในการผลิตพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะการส่งออกทุเรียนมีมาตรฐานกำหนดอยู่แล้วว่า ในการผลิตทุเรียน เพื่อการส่งออก ต้องมีใบ GAP
“สำนักงานเกษตรอำเภอแกลง กรมส่งเสริมการเกษตร ช่วยอำนวยความสะดวกในการเป็นพี่เลี้ยงว่าการจะทำใบ GAP เราต้องมีการเตรียมตัวอะไรบ้าง อย่างสถานที่เก็บวัสดุทางการเกษตร เช่น เก็บปุ๋ย เก็บยา ต้องมีอ่างล้างมือ ต้องมีจุดทิ้งขวดยา ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร จะคอยอำนวยความสะดวกเป็นพี่เลี้ยงให้เราจนได้ใบ GAP จากกรมวิชาการเกษตร“
นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ยังช่วยในเรื่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกร อย่างเช่น เวลาทำสวนถ้าเราประสบภัยธรรมชาติ เช่น เจอวาตภัย เจอน้ำท่วม ถ้าไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เราจะขอรับความช่วยเหลือเยียวยารับค่าชดเชยจากรัฐไม่ได้ แต่ถ้าเราขึ้นทะเบียนเกษตรกร เราสามารถเบิกเงินการเยียวยาจากภาครัฐได้ รวมถึงอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการผลิตพืชว่ามีแมลงศัตรูพืชอะไรบ้าง และการเลือกใช้สารเคมีให้เหมาะสมกับโรคของแมลงตามระยะการเติบโตต่าง ๆ
“กรมส่งเสริมการเกษตรยังให้บริการตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งทุเรียนก่อนตัด ซึ่งเป็นมาตรการของภาคตะวันออกร่วมกัน 3 จังหวัดกำหนดขึ้นมา เราจะมีวันเก็บเกี่ยวทุเรียนที่แน่นอน แต่ถ้าเราต้องการตัดทุเรียนก่อนกำหนดก็ทำได้โดยต้องนำเอาทุเรียนไปตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน ซึ่งถ้าผ่านเกณฑ์ก็ตัดได้อย่าง เช่น หมอนทอง ต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้ง 32 % ขึ้นไป จึงจะส่งออกได้”
ปัจจุบัน วสันต์ ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย และเป็นหนึ่งในคณะทำงานสมาพันธ์ทุเรียนภาคตะวันออก เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟาร์มรื่นรมย์และยังเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) จังหวัดระยองอีกด้วย
หลังจากประสบความสำเร็จแล้ว เขายังได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับเกษตรทำสวนทุเรียนด้วยกัน มีการใช้ช่องทางถ่ายทอดความรู้ทางออนไลน์ รวมทั้งเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่กลุ่มแปลงใหญ่ต่าง ๆ อีกมากมาย รวมทั้งยังเปิดสวนทุเรียน ของตัวเองเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้แก่เกษตรกรทั่วไปและผู้ที่สนใจอีกด้วย
วสันต์ ย้ำว่า “สำหรับคนที่ไม่เคยทำสวนทุเรียนมาก่อนก็ทำได้ แต่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ ทำการศึกษา ทำความเข้าใจจากธรรมชาติของต้นไม้ สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ”
พร้อมกับทิ้งท้ายกับคติประจำใจที่เขายึดถือ “อย่ากลัวความผิดพลาด เพราะอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิตที่พลาดโอกาสในวันนั้น”