อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นห่วงเกษตรกรภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยจึงมอบหมายให้ตนเอง ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือ สร้างขวัญและกำลังใจเกษตรกร พร้อมติดตามการทำงานเจ้าหน้าที่ให้เข้มงวดในการตรวจทุเรียนในโรงคัดบรรจุ ป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด

เมื่อวันที่ 28-29  มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาได้เกิดลมกระโชกแรง ซึ่งเป็นผลพวงจากพายุฤดูร้อนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และตราด ส่งผลให้สวนผลไม้ของเกษตรกรถูกแรงลมหักโค่นล้มจำนวนมาก โดยเฉพาะสวนทุเรียนถูกแรงลม พัดผลร่วงหล่นจากต้น กระจายเกลื่อนทั่วบริเวณ ทำให้เจ้าของสวนหลายรายต้องสูญเงินล้านในพริบตาเนื่องจากทุเรียนมีอายุใกล้เก็บเกี่ยวออกขายสู่ตลาด กรมวิชาการเกษตรจึงได้เร่งประสานผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ ร่วมสำรวจความเสียหาย และเตรียมการช่วยเหลือเยียวยาชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน พร้อมกับได้กำชับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดในการตรวจสอบทุเรียนในโรงคัดบรรจุ เพื่อป้องกันการคละปนทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดด้วย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินความเสียหายจากวาตภัย โดยเจ้าหน้าที่เกษตรตำบล อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า จังหวัดจันทบุรีและตราด ได้รับความเสียหายรวม 9 อำเภอ 24 ตำบล 58 หมู่บ้าน มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ รวม 514 ราย ผลผลิตทุเรียนเสียหายราว 1,500 ตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออกประมาณ 220 ล้านบาท (เฉลี่ยราคากิโลกรัมละ 150 บาท)

สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรมีการนำผลทุเรียนที่ได้รับผลกระทบมาจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อในตลาดเนินสูง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยแบ่งตามชั้นคุณภาพ ซึ่งผู้รับซื้อแจ้งว่าจะนำผลผลิตที่ยังไม่ครบอายุเก็บเกี่ยวนี้ ส่งเข้าห้องเย็นตลาดไท เพื่อบ่มแล้วแกะเนื้อมาปั่นทำไอศกรีม นอกจากนี้ สมาคมทุเรียนไทยยังได้ให้ข้อมูลว่า ได้ประสานกับผู้รับซื้อผลผลิตร่วงหล่นนี้ เพื่อนำไปแปรรูปในอีกช่องทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ทุเรียนที่ร่วงหล่นเสียหายจากลมแรงนี้ เกษตรกรได้มีการคัดแยกเพื่อจำหน่ายตามชั้นคุณภาพ เพื่อการแปรรูป โดยหลายรายยืนยันจะไม่ส่งไปขายเข้าตลาด เพื่อรักษาคุณภาพและชื่อเสียงของทุเรียนไทย

นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กล่าวว่า ในภารกิจที่ สวพ.6 ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เน้นย้ำกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุต้องไม่รับซื้อทุเรียนที่ร่วงหล่นเพื่อส่งออก เนื่องจากเป็นทุเรียนมีตำหนิ หนามช้ำและเน่าเสียง่าย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ห้ามลักลอบนำทุเรียนที่ร่วงหล่น ส่งออกโดยเด็ดขาด หากพบเห็นจะถือว่าโรงคัดบรรจุไม่รักษามาตรฐาน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มอบอำนาจให้ สวพ.6 สั่งพักใช้ เพิกถอน หรือระงับ ยกเลิก หนังสือแสดงการขึ้นทะเบียน (DOA) ได้ แล้วแต่กรณี เมื่อตรวจพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมวิชาการเกษตร ประกาศกรมวิชาการเกษตร และกฎ ระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ผอ.สวพ.6 ได้รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ลงพื้นที่สำรวจตลาดค้าปลีกค้าส่งผลไม้ ที่ตลาดผลไม้เนินสูง และ ตลาดรับซื้อในอำเภอเขาคิชฌกูฏ ร่วมกับ นายสมพล ช่างบุ หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี พร้อมด้วยส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอ และนายกเทศมนตรีในพื้นที่ ร่วมกันติดตามสถานการณ์และสำรวจตลาด พบว่าจุดรับซื้อได้ชี้แจง และแสดงสัญญาซื้อขายกับโรงงานแปรรูป พร้อมทั้งมีการพ่นสีทำตำหนิเป็นสัญลักษณ์ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและปะปนออกไปกับทุเรียนคุณภาพ

ทุเรียนที่ประสบวาตภัยได้ทยอยออกมาจำหน่ายโดยสังเกตได้จากผลทุเรียนจะไม่มีการตัดขั้วที่ฉีกขาดจากลม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 5 – 25 บาท ตามคุณภาพของผลทุเรียน ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์ กลุ่มสหกรณ์ ซื้อทุเรียนที่ได้รับผลกระทบนำไปแปรรูปเป็นไอศกรีม ทอด หรือกวน นอกจากนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยังได้มอบหมายให้ สวพ.6 และ ศวพ.จันทบุรี ประสานกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ ให้การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับความเดือดร้อนตามระเบียบราชการ สนับสนุนต้นกล้าทุเรียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำเรื่อง การบำรุงรักษาต้นทุเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยอีกด้วย

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated