นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรายงาน ก่อให้เกิดพายุฤดูร้อน มีฝนตกลมกรรโชกแรงในพื้นที่หลายจังหวัด เมื่อช่วงวันที่ 28-29 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากต้นโค่นล้ม/ผลผลิตร่วงหล่น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งขณะนี้ผลไม้ภาคตะวันออกหลายชนิดใกล้จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ส่วนภาคเหนือมีทั้งลำไยและลิ้นจี่ที่ใกล้ออกสู่ตลาด จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่เพื่อเร่งสำรวจความเสียหาย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทันที พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในเบื้องต้น เน้นย้ำให้เกษตรกรและประชาชนระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า เกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย โดยเฉพาะสวนไม้ผลซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้ง ลมพายุ และน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า ในส่วนของผลผลิตทุเรียนที่ร่วงหล่นในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนนี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ได้ประชาสัมพันธ์ไปยังเกษตรกรว่า ในหลายพื้นที่มีผู้ประกอบการ เช่นโรงงานแปรรูป โรงงานไอศกรีม และห้องเย็น มีความประสงค์จะรับซื้อผลผลิตร่วงหล่นดังกล่าว แต่ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรทำตำหนิโดยการพ่นสีน้ำเงินที่ผลทุเรียนที่โดนลมพายุร่วงหล่น หรือห้ามตัดขั้วก่อนนำส่งโรงงาน และส่วนที่เหลือแนะนำเกษตรกรให้นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป
ด้านการดูแลพื้นที่เกษตรภายหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน กรมส่งเสริมการเกษตรมีข้อแนะนำเกษตรกร ควรดูแลดังนี้ 1) กรณีที่ต้นไม้ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง 2) ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย 3) กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น 4) หากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น 5) เกษตรกรควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำเกษตรกรชาวสวนในระยะก่อนการเกิดพายุฤดูร้อน ดังนี้ 1) ปลูกต้นไม้บังลม เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก จะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้ 2) ตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย 3) เก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหาย และลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง
ทั้งนี้ กรณีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท ทั้งนี้เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน