นายกฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาวิชาการด้านการเรียน การสอน การวิจัย และส่งเสริมการเกษตร ในวันที่ 28 เมษายน 2566 นี้ เวลา 13.30 – 15.00 น. ณ ห้อง 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ความร่วมมือ ประกอบด้วย 1.พัฒนาทางวิชาการร่วมกันด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร 2.การทำวิจัย และพัฒนาความร่วมมือกันในเรื่องที่จะใช้แก้ปัญหาทางการเกษตร พร้อมทั้งขยายผลโครงการวิจัยด้านการเกษตรที่มีศักยภาพสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรและ 3.พัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย และเกษตรกร โดยแบ่งปันทรัพยากรด้านการเรียน การสอน การวิจัย บุคลากร นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลด้านการส่งเสริมการเกษตรซึ่งกันและกัน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรทั้ง 2 หน่วยงาน จะขับเคลื่อนกิจกรรมไปด้วยกัน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาศักยภาพเยาวชนเกษตรในระดับอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยร่วมกันจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ่ายทอดความรู้และทักษะการเป็นผู้ประกอบการเกษตร สนับสนุนปัจจัยการผลิต และสนับสนุนเยาวชนเกษตรเข้าร่วมการสัมมนาระดับนานาชาติ “Asia 4-H Network” ซึ่งเป็นการสัมมนาของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย 13 ประเทศ และ 2. พัฒนาทางวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร เช่น การแปรรูปโกโก้ ของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่โกโก้ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด และการจัดการประสิทธิภาพการผลิตมังคุด ของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการคัดเกรดผลมังคุดด้วยระบบ Image Processing โดยการขับเคลื่อนทั้งหมดถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือกันของ 2 หน่วยงาน
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะงานวิชาการ การวิจัย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม การเพิ่มทักษะและยกระดับคุณภาพเกษตรกรสู่ความยั่งยืนต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจส่งเสริมการเกษตร และพัฒนาเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการพัฒนา ส่งเสริม และประสานถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกร เพื่อพัฒนาและยกระดับอาชีพการเกษตรให้มีความมั่นคง และยั่งยืน ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการให้ความรู้ พัฒนาวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรมด้วยการวิจัย และบริการทางวิชาการแก่สังคมในการนำผลงานวิจัยที่พร้อมใช้ไปขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีความรู้และทักษะ เพื่อเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีคุณภาพต่อไป