กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสงคราม เตรียมจัดงาน “เทศกาลลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามและของดีเมืองแม่กลอง” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 21- 30 เมษายน 2566 ณ บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม สินค้าเกษตร สินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดสมุทรสงคราม ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และช่วยระบายผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์ค่อมให้กับเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย บูธจำหน่ายสินค้าภายในงานกว่า 100 ร้านค้า และการประกวดลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม โดยคาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม หรือหอมลำเจียก เป็นลิ้นจี่ที่มีรสชาติหอมหวาน มีลักษณะเด่น คือ หนามตั้ง หนังตึง เนื้อเต่ง เมื่อแกะดูด้านในเปลือกจะมีสีแดง (ร่องชาด) ผลกลม รูปไข่หรือรูปหัวใจ เมล็ดยาว เปลือกมีหนามตั้งหรือหนามแหลมห่างเสมอกันทั้งผลและไม่เป็นกระจุก เนื้อเต่ง หนา กรอบ สีขาวอมชมพูเรื่อ ๆ เนื้อแห้ง และไม่แฉะ มีกลิ่นหอม รสหวานติดฝาดเล็กน้อย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI (Geographical Indication) โดยลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้วจำนวน 12 ราย เป็นชาวอำเภออัมพวา 4 ราย และอำเภอบางคนที 8 ราย รวมทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี จำนวน 47 ราย พื้นที่ 156 ไร่

ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงครามแท้ได้ โดยการสังเกตป้ายการันตีที่ร้านค้า ประกอบไปด้วยหนังสือรับรองสินค้าลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม และโลโก้การันตีที่ออกให้โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หากพบเบาะแสผู้แอบอ้างจำหน่ายลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม สามารถโทรแจ้งได้ที่หมายเลขสายด่วน 1569

สำหรับ ลิ้นจี่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสมุทรสงคราม มีเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ 1,954 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 5,160 ไร่ ประกอบด้วยอำเภอเมือง จำนวน 7 ไร่ อำเภออัมพวา 2,293 ไร่ อำเภอบางคนที 2,860 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ค่อม จำนวนร้อยละ 99 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ที่เหลือเป็นพันธุ์กะโหลก พันธุ์ไทย พันธุ์จีน พันธุ์สำเภาแก้ว และอื่น ๆ ทั้งนี้ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมต้นแรก มาจากนายติ มีแก้วกุญชร ได้นำเมล็ดมาจากตรอกจันทร์ กรุงเทพมหานคร มาปลูกในพื้นที่ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา ในปี 2397 ปัจจุบันลิ้นจี่ค่อมต้นแรก มีอายุกว่า 169 ปี อยู่ที่ในสวนลิ้นจี่ 200 ปี ของนายจิรศักดิ์ เฮงประเสริฐ ซึ่งเป็นลูกหลานของ นายติ มีแก้วกุญชร ต่อมาจึงได้มีการขยายพันธุ์กระจายไปทั่วทั้งจังหวัดสมุทรสงคราม

