“สยามคูโบต้า” จับมือ “สุโขทัย” สร้าง
สุโขทัย เมืองต้นแบบปลอดการเผา

บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เดินหน้าแผน KUBOTA NET ZERO EMISSION มุ่งมั่นสร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืน ยกระดับเกษตรปลอดการเผา สู่นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ จับมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของจังหวัดสุโขทัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ สร้างโมเดล “สุโขทัย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission” เป็นจังหวัดที่ 9 ดึงองค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มุ่งแก้ปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ตลอดจนบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมีโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัยร่วมมือรับซื้อใบอ้อยสดเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย

นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า “ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยกว่า 50% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน สยามคูโบต้าได้ดำเนินกิจกรรมโซลูชันเกษตรปลอดการเผาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อรณรงค์และพัฒนากระบวนการผลิตโดยวิธีการทำเกษตรปลอดการเผาตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำเอานวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรและองค์ความรู้ด้านการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร มาปรับใช้

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ รวมถึงดำเนินการจัดลงนามความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ไปแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดราชบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดอุดรธานี ส่งผลให้ลดการเผาในภาคการเกษตรไปแล้วกว่า 40% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังสร้างรายได้และคืนสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พี่น้องเกษตรกร

ปัจจุบันสยามคูโบต้าได้ยกระดับโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) สู่เป้าหมาย KUBOTA NET ZERO EMISSION มุ่งมั่นสร้างโลกเกษตรที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดสุโขทัยเป็นแห่งแรก ด้วยเล็งเห็นศักยภาพและมีความพร้อมในการต่อยอดโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวทางสยามคูโบต้ามีแผนที่จะศึกษาและส่งเสริมให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรและภาคการเกษตร พร้อมทั้งจับมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายผลสู่ระดับประเทศต่อไป

ด้าน นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า “พืชที่มีการเผาเศษวัสดุมากที่สุดในจังหวัดสุโขทัย คือ อ้อยโรงงาน และข้าว แต่จากสถิติปีที่ผ่านมาปริมาณการเผาไร่อ้อยก่อนการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลลดลง อันเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐ และความร่วมมืออย่างเคร่งครัดของเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล แต่กลับพบว่าการเผาเศษใบอ้อยหลังการตัดอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จังหวัดสุโขทัยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมมือกันจัดงาน “วันรณรงค์ชาวไร่อ้อยสุโขทัย ร่วมใจหยุดเผา เพื่อเรา เพื่อโลก” พร้อมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Net Zero Emission จังหวัดสุโขทัย เพื่อร่วมกันบูรณาการกิจกรรม Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ร่วมกับทางสยามคูโบต้า เพื่อผลักดันนโยบายการงดเผาฟางข้าวและใบอ้อย อีกทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และก่อให้เกิดมูลค่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในนามจังหวัดสุโขทัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) รวมถึงมุ่งแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เพื่อสร้าง “สุโขทัย เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission” ให้เกิดขึ้นได้จริง”

นอกจากนี้ นายทรงพล จันทร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด กล่าวเสริมว่า พื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีการลดลงของอ้อยไฟไหม้อย่างชัดเจน และมีปริมาณอ้อยสดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐ ความร่วมมือของชาวไร่อ้อย โดยโรงงานน้ำตาลทิพย์สุโขทัย มีนโยบายหลักในการรับซื้ออ้อยสดคุณภาพดีเพื่อนำไปสู่รายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรและการลดอ้อยไฟไหม้โดยใช้ 3 มาตรการหลักคือ 1. ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการเพิ่มศักยภาพชาวไร่อ้อย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตฟรี สนับสนุนเงินเกี๊ยวหรือเงินส่งเสริมให้กับชาวไร่อ้อยอย่างเต็มที่ 
2. ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย โรงงานมีการนำเทคโนโลยี ด้าน GIS และระบบสารสนเทศอื่นๆ นำมาควบคุมติดตามการนำอ้อยเข้าหีบ และมีระบบ war room ติดตามรถตัดอ้อย เพื่อให้การตัดอ้อยมีประสิทธิภาพสูงสุด และ 3. หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย สนับสนุนชาวไร่อ้อยไว้ใบหลังตัดเพื่อ รักษาความชื้น เพิ่มอินทรียวัตถุในแปลง ยืดอายุการไว้ตอ โดยใช้วิธีการจัดการใบหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยไม่ว่าจะเป็นฉีดน้ำหมักยูเรียเร่งการย่อยสลายใบอ้อย การใช้ผาลพรวนคลุกสับใบอ้อยเพื่อเพิ่มปุ๋ยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินและเพิ่มมูลค่าใบอ้อยโดยตรง อีกทั้งสนับสนุนการลดมลพิษทางอากาศโดยการจำหน่ายใบให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยปัจจุบันปีการผลิต 2565/66 มีปริมาณอ้อยสดที่ 96.58 % มีปริมาณอ้อยสดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศจากจำนวนโรงงานทั้งหมด 57 โรงงาน การรับซื้อใบอ้อยเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลมากกว่า 130,000 ตัน/ใบอ้อยงาน”

“ก่อนหน้านี้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการเผาอ้อย เพื่อให้ทันฤดูเปิดหีบของโรงงานน้ำตาล แต่ต้องประสบปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ มลพิษทางอากาศ สุขภาพเสื่อมโทรมจากการได้รับฝุ่นควัน ราคาผลผลิตต่ำกว่าการตัดอ้อยสด รวมถึงผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของดินในการเพาะปลูก หลังจากที่ภาครัฐและเอกชนเข้ามาเสนอโครงการไม่เผาสนับสนุนเครื่องจักรและรับซื้ออ้อยสด ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเครือข่ายในจังหวัดสุโขทัย รวมตัวกันศึกษาถึงผลกระทบ และเข้าร่วมโครงการนี้ โดยเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีแบบไม่เผา ช่วยให้ไม่ทำลายจุลินทรีย์และแร่ธาตุในดิน หลังจากใบอ้อยย่อยสลายก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ยและค่าแรงงานและคุณภาพดินดีขึ้น” นายอมร อับดุลย์ ชาวไร่อ้อยที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเศษใบอ้อย กล่าว

อย่างไรก็ตามสยามคูโบต้ายังคงมุ่งมั่นผลักดันแนวคิดเกษตรปลอดการเผาสู่การสร้าง
“เมืองต้นแบบปลอดการเผาสู่ Net Zero Emission” ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือของโครงการฯ ในปี 2566 เพิ่มอีก 5 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีการผลักดันองค์กรและสินค้าของคูโบต้าให้เป็นองค์กรที่มีนโยบายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ของโครงการ Net Zero Emission อย่างครบวงจร ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50 % ภายในปี 2573 พร้อมขยายผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2593 สอดรับกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามการตอบรับความตกลงปารีส (Paris Agreement)

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated