นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ประเทศไทยนิยมปลูกเงาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ พบพื้นที่ปลูกมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี ตราด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และนราธิวาส ตามลำดับ โดยแต่ละพื้นที่จะมีฤดูกาลผลผลิตแตกต่างกันคือ ภาคตะวันออกจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ส่วนภาคใต้จะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ดังนั้นในช่วงนี้บางพื้นที่ของภาคตะวันออกควรเริ่มเตรียมพร้อมดูแลจัดการสวนเงาะให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มแตกใบอ่อนจนถึงเริ่มติดผลอ่อน ให้หมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของ โรคราแป้ง ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญอย่างมาก เพราะหากเกิดการเข้าทำลายรุนแรงในระยะนี้ จะทำให้ผลผลิตและคุณภาพของเงาะลดลง ขายได้ราคาไม่ดี สร้างความเสียหายให้กับชาวสวนได้
สำหรับ โรคราแป้ง มักแพร่กระจายมากในช่วงสภาพอากาศค่อนข้างเย็นหรือมีความชื้นสูงในช่วงเช้าหรือกลางคืน และสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะสภาพอากาศร้อนและมีฝนตกยิ่งเหมาะกับการเกิดโรคราแป้ง ลักษณะอาการจะพบผงสีขาวหรือสีเทาอ่อนคล้ายแป้งเกาะบนใบอ่อน ช่อดอก และตามร่องขนของผลอ่อน ทำให้ติดผลน้อย หรือไม่ติดผล หากติดผลจะมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ หลุดร่วงง่าย หรือผลเน่าแห้งติดคาที่ก้านช่อ หากเป็นโรคในระยะผลโตจะทำให้ขนเงาะแห้งแข็ง ผิวผลมีสีคล้ำไม่สม่ำเสมอ ซึ่งหากอาการรุนแรงจะทำให้ขนกุด เรียกว่า เงาะขนเกรียน ในระยะที่ผลกำลังสุก ส่วนที่มีเชื้อราปกคลุมจะมีสีซีดกว่าปกติ นอกจากนี้ อาจพบอาการของโรคได้ที่ส่วนยอดและใบ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนร่วงด้วย
![](https://www.kasetkaoklai.com/home/wp-content/uploads/2023/04/S__58220546-1024x768.jpg)
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัด หากเริ่มสำรวจพบอาการของโรคราแป้ง ให้ตัดแต่งและเก็บผลเงาะที่ร่วงหล่น รวมถึงใบหรือกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลง หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรค รวมทั้งลดความชื้นในทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทและได้รับแสงสว่างอยู่เสมอ ทั้งนี้ หากพบการแพร่กระจายของโรครุนแรง สามารถฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรค ได้แก่ ซัลเฟอร์ 80 % WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรโฟรีน 19% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบโนมิล 50% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และให้ฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น โดยเฉพาะสารซัลเฟอร์ซึ่งไม่ควรฉีดพ่นสารในสภาพอากาศร้อน หรือมีแดดจัด เพราะอาจทำให้เกิดอาการไหม้ที่ช่อดอกและขนผลอ่อนเงาะได้ ตลอดจนไม่ควรฉีดพ่นสารในช่วงดอกบาน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการผสมเกสร และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บผลผลิต อย่างน้อย 15 วัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากโรคราแป้งแล้ว ยังมีศัตรูเงาะอีกหลายชนิดที่เกษตรกรชาวสวนเงาะควรเฝ้าระวัง ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ หนอนคืบกินใบ และโรคใบจุดสาหร่าย และหากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน