เกษตรก้าวไกล เดินทางไปยังจังหวัดตราดเพื่อไปดูเกษตรกรตัดทุเรียนหมอนทองวันสุดท้าย ได้พบกับ คุณเรือง ศรีนาราง ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ระหว่างนี้ได้พูดคุยกันเรื่องต้นทุนค่าทำสวนทุเรียน พบว่านอกจากค่าปุ๋ย ค่ายาที่เป็นต้นทุนหลัก ยังมีค่าแรงงาน และที่มาแรงคือ ค่าไฟฟ้าสูบน้ำรดต้นทุเรียน กว่า 100 ไร่
“ค่าไฟฟ้าสูบน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นทุเรียนนับวันจะสูงขึ้นตกเดือนหนึ่งๆหลายหมื่นบาท เฉพาะเดือนที่ผ่านมาซึ่งอากาศร้อนมากค่าไฟตกเจ็ดหมื่นบาทครับ” นายเรือง กล่าว (รวมค่าไฟฟ้าทั้งหมดทั้งในบ้านและในสวน รวมทั้งที่ทำการวิสาหกิจชุมชน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่จะหนักค่าสูบน้ำมากที่สุด)
ระบบสูบน้ำแบบใช้พลังงานไปฟ้าของสวนทุเรียนนายเรือง
หลังจากนั้นได้พาไปดูจุดที่สูบน้ำของสวนทุเรียนนายเรือง เป็นระบบไฟฟ้า มี 2 มอเตอร์ที่อยู่ติดกัน สูบน้ำจากสระน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้สวนเพียงมีถนนกั้น ซึ่งแหล่งน้ำนี้จะมีเกษตรกรผู้ใช้น้ำหลายราย โดยสูบน้ำต่อมาจากสถานีสูบน้ำของชุมชนที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร เพราะลำพังน้ำจากธรรมชาติที่เก็บไว้ช่วงฤดูฝนไม่พอเพียง โดยเฉพาะการรดน้ำทุเรียนที่จะต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพราะทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ยิ่งในช่วงฤดูแล้งต้องสูบน้ำกันวันละหลายชั่วโมง
คุณเรือง ขณะเปิดวาล์วทดสอบความแรงของน้ำที่แก่งกระจานคันทรีคลับ
“อนาคตกำลังศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนคือ โซล่าเซลล์ โดยช่วงที่ผ่านมาได้พาผู้นำเกษตรกร ร่วมกับคณะกรรมการสถานีสูบน้ำของชุมชนไปศึกษาดูงานระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ ของ ดร.มานพ โตการค้า ที่แก่งกระจานคันทรีคลับ พบว่าสามารถลดค่าไฟได้มาก จึงคิดว่าจะติดตั้งระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ในเร็ววันนี้”
สถานีสูบน้ำชุมชน
สูบน้ำจากสระน้ำนี้ ซึ่งต่อเชื่อมมาจากคลองอีกที
หลังจากนั้น นายเรือง ศรีนาราง ได้นำไปดูสถานีสูบน้ำของชุมชน(สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านคลองขวาง ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด) ซึ่งเป็นเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ใช่งานมานานนับสิบปี ที่จุดนี้มี ผู้ใหญ่ปัญญา อิ่มอุไร หมู่ที่ 8 บ้านเขาพลู ตำบลท่ากุ่ม มาสมทบ ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่าเดิมทีกรมชลประทานมาติดตั้งให้ ต่อมามอบให้กับ อบต.ท่ากุ่ม โดยการสูบน้ำจากจุดนี้จะต่อท่อไปตามถนนจากนั้นท่อน้ำจะแยกไปตามแปลงเกษตรของเกษตรกร ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 4,6,7 และหมู่ 8 มีเกษตรกรผู้ใช้น้ำ 260 ราย มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่
ผู้ใหญ่ปัญญา อิ่มอุไร
“ค่าไฟฟ้าที่ใช้สูบน้ำเฉลี่ยชั่วโมงละ 1,000 บาท และแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้น้ำที่มากขึ้น มีการปลูกไม้ผลที่จำเป็นต้องใช้น้ำจากเดิมปลูกยางพารา โดยเฉพาะมีการปลูกทเรียนกันมาก ค่าไฟฟ้าเดือนที่ผ่านมาเกือบ 200,000 บาทครับ” ผู้ใหญ่ปัญญา สรุปให้ฟัง
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
แนวทางแก้ปัญหา ทางผู้ใหญ่ปัญญา บอกว่าคณะกรรมการสถานีสูบน้ำไปศึกษาดูงานระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ ร่วมกับแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม นำทีมโดย นายเรือง ศรีนาราง ที่แก่งกระจานคันทรีคลับ ซึ่งก็มีแผนว่าจะเปลี่ยนเป็นระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ แต่จะต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถสูบน้ำขึ้นที่สูงและส่งน้ำไประยะไกลๆได้
กำลังอธิบายเรื่องระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ (ด้านหลังคือสวนทุเรียนที่ใช้น้ำ)
ด้าน นายธนธร พัฒนาบวร ตัวแทน ดร.มานพ โตการค้า ที่ได้เดินทางมาร่วมคณะในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่าจากการศึกษาดูระบบสูบน้ำทั้งของนายเรือง ศรีนาราง และของสถานีสูบน้ำของชุมชนแล้ว คิดว่าระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ของ ดร.มานพ ที่เป็นนวัตกรรมของระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์ที่มีแรงส่งสูง ซึ่งติดตั้งใช้งานอยู่ที่แก่งกระจานคันทรีคลับ หลายจุด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดเกษตรอุตสาหกรรม โดยการนำเอานวัตกรรมบางส่วนของ ดร.มานพมาผสมผสานในการใช้งาน จะสามารถตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูงได้
เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ใช่งานมานานนับสิบปี
สรุปในเบื้องต้นนี้ เกษตรกรกำลังประสบปัญหาค่าไฟฟ้ามีราคาแพงขึ้นและแนวโน้มต้องใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากทรัพยากรน้ำเริ่มหายากและอยู่ไกล ต้องสูบน้ำมาเติมอยู่เรื่อยๆเป็นช่วงๆ หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการนี้เกษตรก้าวไกลจะติดตามมานำเสนอต่อไป
มั่นใจว่าระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์จะลดต้นทุนค่าพลังงานได้
กรณีท่านที่จะสอบถามในเรื่องระบบสูบน้ำโซล่าเซลล์เพื่อการเกษตร ติดต่อ นายธนธร พัฒนาบวร โทร. 0894705522 หรือ นายศุภชัย นิลวานิช โทร. 0863185789 ซึ่งทั้ง 2 ท่านพร้อมให้คำปรึกษาเพื่อการติดตั้งต่อไป